Haijai.com


แม่ทำงานก็สามารถให้น้ำนมลูกได้


 
เปิดอ่าน 1862

แม่ทำงานก็ให้นมลูกได้นะ

 

 

ใครก็รู้ว่านมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน ก็คงอดวิตกไม่ได้ว่าจะให้นมลูกได้อย่างไร ปั๊มนมตอนไหน จะให้ลูกดูดนมจากขวดดีหรือเปล่า แล้วขวดนมที่ใช้จะควรค่าเท่ากับความสะอาดบริสุทธิ์ของน้ำนมแม่หรือเปล่า อย่าเพิ่งกังวลไปไกลค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว คุณแม่ทำงานก็สามารถให้นมลูกได้ แค่รู้วิธี

 

 

ปั๊มน้ำนมแม่

 

คุณแม่ที่ให้นมลูกส่วนใหญ่ต้องรู้จักกับเครื่องปั๊มนมแม่อยู่แล้วค่ะ โดยอาจจะเลือกใช้แบบปั๊มมือ หรือเครื่องปั๊มแบบไฟฟ้า ก็สะดวกและประหยัดเวลาไปได้เยอะทีเดียว วิธีการปั๊มก็คือ ปั๊มเวลาเดียวกับที่ลูกดูดนมเป็นประจำ เมื่อปั๊มแล้วก็เก็บใส่ถุงบรรจุน้ำนม เขียนวันที่ จำนวนออนซ์ หากคุณอยู่ที่ทำงานก็แช่ในกระติกน้ำแข็งไว้ก่อน พอกลับมาบ้านจึงนำเข้าช่องแช่แข็งในตู้เย็น ไว้อุ่นให้ลูกเมื่อคุณไม่อยู่บ้านค่ะ

 

 

เตรียมน้ำนมแม่ ให้ลูกรัก

 

ขั้นตอนการเตรียมน้ำนมแม่ จริงๆ แล้วไม่ยากอย่างที่คิดไม่เชื่อลองดู

 

 

 เริ่มจากอุ่นขวดนมที่คุณเลือกแล้ว และมั่นใจว่าปลอดภัยต่อลูกน้อยมานึ่งหรืออบเพื่อฆ่าเชื้อโรค

 

 

 ระหว่างที่อบหรือนึ่งขวดนม ให้นำถุงเก็บน้ำนมแม่มาแช่ไว้ในน้ำอุ่นให้พอละลาย เมื่อเหลวพอจะเทออกจากถุงได้จึงเทนมใส่ขวดนมที่นึ่งหรืออบแล้ว

 

 

 วางขวดนมลงในหม้อที่ใส่น้ำอุ่น เปิดไฟอ่อนๆ ไม่ควรนำนมแม่ใส่ภาชนะไปอุ่นกับไฟโดยตรง เพราะความร้อนจะทำลายสารอาหารในนมแม่ และห้ามอุ่นน้ำนมแม่ในไมโครเวฟ

 

 

 เช็กอุณหภูมิน้ำนมว่าอุ่นพอดีหรือยัง ด้วยการหยดน้ำนมลงบนหลังมือ

 

 

 เพียงเท่านี้ เจ้าตัวดีก็จะได้อิ่มอุ่นกับน้ำนมแม่ แม้ว่าคุณแม่ต้องออกไปทำงาน

 

 

ความปลอดภัยอีกระดับของลูกน้อย

 

การเลือกขวดนมที่มีความปลอดภัยสูง ปราศจากสารบิสฟีนอล เอ หรือ บีพีเอ (Bisphenol A: BPA) จะช่วยป้องกันลูกน้อยจากการได้รับสารเคมีตกค้าง เพราะเมื่อบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจาก BPA สารนี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจากการศึกษาของ The Yale School of Medicine, USA. พบว่า สารบิสฟีนอล เอ (BPA) มีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียการพัฒนาของการสร้างเซลล์สมอง ซึ่งเป็นผลต่อระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้ และการมีแนวโน้มในเด็กที่เริ่มเป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกขวดนมที่ปราศจากสาร BPA (BPA – Free) เพื่อความมั่นใจของคุณแม่ และความปลอดภัยอีกระดับของลูกน้อย

 

 

ลองหันมามองดูอีกครั้ง ว่าสิ่งที่ลูกรักของคุณใช้อยู่ทุกวัน ปลอดภัยแน่หรือเปล่า ??

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จ และไม่ต้องการให้น้ำนมของคุณต้องเจือปนด้วยสารตกค้าง การเลือกขวดนมที่ปราศจากสาร BPA หรือ BPA-Free ก็น่าจะทำให้คุณกลับไปทำงานได้ โดยปราศจากความกังวลใจเรื่องขวดนม ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการให้นมแม่ไปได้มากทีเดียว

 

 

More About BPA

 

น้ำนมแม่นั้น มีคุณประโยชน์ต่อลูกทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ แล้วคุณจะยอมได้หรือหากน้ำนมแม่ต้องแปดเปื้อนสารตกค้าง ที่อาจทำอันตรายลูกน้อยของคุณได้ ต่อไปนี้คือผลการวิจัย และรายงานทางการแพทย์ เกี่ยวกับสาร BPA ที่เป็นวัตถุดิบในการใช้ทำพลาสติก ที่นำมาทำเป็นขวดนมสำหรับเด็ก

 

 

 บิสฟีนอล เอ  (BPA) มีคุณสมบัติหลัก คือ ช่วยให้พลาสติกมีความแข็ง ใสเหมือนแก้ว และแข็งแรงไม่ค่อยแตกหัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีรายงานจากหลายสถาบันว่า ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตจากโพลีคาร์บอเนตนั้น เมื่อทำการต้มหรือนึ่ง สารบิสฟีนอล เอ  (BPA) จะแทรกซึมลงในของเหลวและอาหารที่บรรจุอยู่ภายในได้เมื่อใช้งาน

 

 

 บิสฟีนอล เอ (BPA) เป็นสารเคมีที่ใช้ทั่วไปในการผลิตภาชนะ, บรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมากที่สุดในโลก และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นสารสำคัญที่ใช้ในการผลิตขวดนมสำหรับเด็กที่ใช้กันทั่วไป

 

 

 สำนักงานควบคุมโรคระบาดของสหรัฐอเมริกา (CDC – The U.S. Centers for Disease Control) ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด พบข้อสรุปอีกข้อที่น่าตกใจคือ เด็กมีระดับบิสฟีนอล เอ  (BPA) ในร่างกายมากกว่าวัยรุ่น และวัยรุ่นมีระดับบิสฟีนอล เอ  (BPA) ในร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่

 

 

 นับว่าเป็นข่าวดีที่รัฐบาลในบางประเทศเริ่มมีนโยบายต่อต้านการใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมของ บิสฟีนอล เอ (BPA) แล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา นายโทนี่ คลีเมนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า “ประเทศแคนาดาสั่งห้ามการนำเข้า ขาย และโฆษณาขวดนมเด็กที่ผลิตจากโพลีคาร์บอเนต” เพราะกังวลว่า อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กเล็ก ที่จะเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า

 

 

 ในขณะเดียวกัน ห้างวอลมาร์ต (Wal-Mart)* ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศเช่นเดียวกันว่าจะยกเลิกการขายขวดนมเด็กและถ้วยหัดดื่มที่ผลิตจากโพลีคาร์บอเนตในแคนาดาในทันที และจะทยอยลดปริมาณการขายสินค้าในกลุ่มนี้ในสหรัฐ โดยตั้งเป้ายกเลิกการขายทั้งหมดในปี 2552 รวมไปถึงทอยส์ อาร์ อัส  (Toy R us) ที่มีถึง 1,256 สาขา ใน 36 ประเทศทั่วโลก ก็ปฏิเสธที่จะขายขวดนมที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตในทันทีแล้วเช่นกัน

 

 

 นักวิจัยยังพบผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจ มีสารบิสฟีนอล เอ (BPA) ในปัสสาวะสูงกว่าคนทั่วไป อาจเชื่อได้ว่าสารอันตรายในพลาสติก บิสฟีนอล เอ (BPA) มีส่วนทำให้เกิดโรคและความผิดปรกติในร่างกาย แต่ยังต้องศึกษาต่อเพื่อความแน่ชัด ทั้งยังชี้แนะให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดที่มีส่วนผสมของสารอันตรายนี้ลงด้วย

 

 

ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

(Some images used under license from Shutterstock.com.)