© 2017 Copyright - Haijai.com
ไดออกซินคืออะไร สารไดออกซิน
ไดออกซิน เป็นชื่อสามัญประจำบ้าน ซึ่งโยงไปถึงกลุ่มของสารอินทรีย์ที่มีชื่อทางเคมีว่า คลอริเนตเต็ดไดเบ็นโซพาราไดออกซิน (chlorinated dibenzo-p-dioxins) ซึ่งมีสมาชิกที่วิเคราะห์ได้แล้วกว่า 70 ชนิด สารไดออกซินชนิดที่มีความร้ายแรงที่สุดมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า ทีซีดีดี (TCDD)
ที่มาของไดออกซิน
ไดออกซินเกิดขึ้นเองระหว่างการผลิตสารอินทรีย์หลายชนิดที่มีธาตุคลอรีนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตัวอย่างที่สำคัญมากคือ เกิดระหว่างการผลิตโพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนีล (พีซีบี) มัจจุราชต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาแทนที่ดีดีที สารพีซีบีมีคุณสมบัติทนร้อน ไม่ติดไฟ และไม่นำไฟฟ้า จึงถูกนำมาใช้มากในอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้ากำลังสูง เช่น เครื่องปรับแรงดันไฟฟ้า ตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ ตลอดจนในเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
ดังนั้น การทิ้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้แล้วลงในที่สาธารณะ จึงเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของพีซีบี พร้อมกับไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ไดออกซินยังเกิดได้จากการฟอกสีกระดาษให้ขาว ดังนั้นการนำกระดาษไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องบรรจุนม จึงต้องทำการเคลือบกระดาษด้วยแผ่นพลาสติกบางใสหลายๆ ชั้น เพื่อกันการปนเปื้อนของไดออกซินสู่อาหาร ที่หลอนที่สุดคือ ไดออกซินสามารถเกิดได้ระหว่างการเผาศพที่ใส่เสื้อผ้า ซึ่งมีอุปกรณ์เป็นพลาสติกที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น กระดุม ดังนั้น ปัจจุบันวัดบางแห่งที่รักสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีเมมรุเผาศพปลอดไดออกซิน
อันตรายของไดออกซิน
ได้ออกซิน เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันต่ำ แต่มีพิษระยะยาวที่น่ากลัว สารพิษกลุ่มนี้ โดยเฉพาะทีซีดีดี ก่อพิษได้อย่างน่าประหลาดใจ เพราะในการทดลองระยะยาวพบว่า ทำให้สัตว์ทดลองกลุ่มเดียวกันเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างกัน และสามารถเป็นมะเร็งได้มากกว่าหนึ่งชนิด ซี่งปรากฏการณ์นี้ไม่เกิดในการทดสอบสารก่อมะเร็งกลุ่มอื่น
นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าไดออกซินไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย และทำตัวเสมือนโปรโมเตอร์มวยที่ไปค้นหานักมวยมาเจียระไน คือ ทำให้เซลล์มะเร็งที่มีหลบซ่อนอยู่ในร่างกายออกมาโชว์ตัว และเพิ่มปริมาณได้ ดังนั้นสัตว์ทดลองแต่ละตัวที่ได้สารไดออกซินเข้าไป จึงเกิดมะเร็งได้หลายอวัยวะ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือ นอกจากมีส่วนร่วมในการก่อมะเร็งแล้ว ทีซีดีดียังก่อให้เกิดปัญหาในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ โดยทำให้จำนวนลูกสัตว์ที่เกิดน้อยลง ลูกสัตว์พิการ หรือเกิดการแท้ง เพราะทีซีดีดีไปวุ่นวายกับวงจรของฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงการตั้งท้องระยะแรก
มีกรณีศึกษาที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง คือ สมัยที่กองทัพอเมริกันเปิดฉากทิ้งระเบิดปูพรมหวังกำจัดเวียดกงให้สิ้นซากในสงครามเวียดนามนั้น ได้มีการดำรินำเอาสาร 2,4 D และสาร 2,4,5-T ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชมาผสมในปริมาณเท่ากัน ได้เป็นสารสีส้ม เรียกกันเล่นๆ ว่า Agent Orange ซึ่งภายหลังกลายเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกามหามิตรปวดเฮดมาก เพราะในการผลิต 2,4,5-T มีสารทีซีดีดีปนเปื้อนในปริมาณสูงถึงระดับ 60 ส่วนในพันล้านส่วน ส่งผลให้ทหารผ่านศึกอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการโปรยสารสีส้มจากเครื่องบินเป็นมะเร็งและโรคต่างๆ สูงผิดปกติ ทหารผ่านศึกเหล่านนั้น จึงฟ้องร้องรัฐบาลอเมริกันและบริษัทผู้ผลิตสารสีส้มเป็นเงินหลายล้านเหรียญ ทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนค้นหาความจริง และสั่งถอนชื่อ 2,4,5-T ออกจากบัญชีสารกำจัดศัตรูพืช และจ่ายเงินให้ผู้ฟ้องร้อง
สถานการณ์ไดออกซินในประเทศไทย
ไดออกซินปรากฎตัวในประเทศไทยย้อนหลังไปได้หลายปี ที่สำคัญคือการปล่อยน้ำเสียของโรงงานผลิตกระดาษ ซึ่งใช้คลอรีนเป็นสารฟอกขาวลงสู่ลำน้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ.2541 ส่งผลให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำครั้งใหญ่ มีผู้เก็บตัวอย่างน้ำส่งไปตรวจหาปริมาณไดออกซินที่ฝรั่งเศสพบว่า การปนเปื้อนนั้นสูงจนน่าตกใจ ข่าวนี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่สุดท้ายข่าวก็เงียบไป พร้อมกับข้อมูลที่ไม่มียืนยันว่า มีการสั่งไม่ฟ้องโรงงานตามที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งยื่นฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของแม่น้ำ มีหน้าที่เพียงดูแลเท่านั้น จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ดังนั้นปรากฏการณ์นี้ จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งทั้งที่ขอนแก่นและจังหวัดอื่น
ปัญหาที่เกิดจากการปนเปื้อนไดออกซินในอาหาร ซึ่งฮือฮามากในปี พ.ศ.2542 คือ การที่บริษัทเวอร์เคสต์ (Verkest) ของเบลเยียมผลิตไขมันสัตว์ปนเปื้อนไดออกซิน ส่งให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์สิบแห่งในเบลเยียม สองแห่งในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากความสับสนของคนงานที่เข้าใจผิดว่า สารละลายที่ดูคล้ายไขมันสีเหลือง (ซึ่งถูกถ่ายออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่) เป็นไขมันพืช จึงนำไปรวมกับไขมันพืชที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ จึงทำให้อาหารสัตว์ชุดนั้น มีการปนเปื้อนของไดออกซินในปริมาณสูงถึง 800 เท่า ของมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ งานนี้เบลเยียมสูญเสียรายได้จากการขายเนื้อสัตว์ราวๆ 767 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในไทยต้องกวาดเอาช็อกโกแลตที่ส่งมาจากเบลเยียมออกจากชั้นวางของไปตามๆ กัน
คำแนะนำง่ายๆ สำหรับคนไทยเรา คือ ในกรณีที่เราไม่ได้ซื้ออาหารที่มีไดออกซินปนเปื้อนจากต่างประเทศมาบริโภค โอกาสได้รับสารพิษกลุ่มนี้จะค่อนข้างน้อย แต่สำหรับผู้ทีต้องซื้อนมและผลิตภัณฑ์นม โดยเฉพาะนมสำหรับเด็กอ่อนและนมสำหรับเด็กโตนั้น ต้องคอยฟังข่าวว่ามีประกาศออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ระบุชนิดของอาหารที่อาจปนเปื้อนเนื่องจากไดออกซินเมื่อไร ในผู้ที่กังวลมากเพราะเป็นเรื่องไม่ควรเสี่ยง ก็สามารถทำให้เกิดความเบาใจได้ โดยการเปลี่ยนไปซื้อสินค้านมเนยสำหรับทารก เด็ก และผู้ใหญ่ ที่ผลิตในทวีปที่ค่อนข้างสะอาด ปลอดต่อการปนเปื้อนของไดออกซิน ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านนี้ได้จากระบบอินเตอร์เน็ตทั่วไป
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ
นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)