Haijai.com


ช่วงวัยเตาะแตะ


 
เปิดอ่าน 1515
 

ช่วงวัยเตาะแตะ

 

 

T. Berry Brazelton M.D. ผู้เขียนหนังสือขายดีที่รู้จักกันดีเรื่อง TOUCHPOINT (ทัชพอยต์) เป็นผู้ก่อตั้งแผนกพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลบอสตัน และเป็นศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ที่โรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

 

 ช่วงวัย 12-14 เดือน

 

เด็กวัยเตาะแตะที่เพิ่งหัดเดิน กำลังอยู่ในช่วงตื่นเต้นกับความสามารถใหม่นี้ ซึ่งเป็นความสามารถที่อาจสร้างอันตรายให้กับเขาได้ ลูกของคุณจะทดลองความสามารถใหม่นี้ของเขาอย่างสนุกสนาน เขาชอบที่จะเดินเตาะแตะไปยังที่ต่างๆ และบางครั้งเมื่อเขาหันมาไม่เจอพ่อแม่ ก็จะส่งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องให้คุณแสดงตนว่ายังอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น และเมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มสนุกกับการเดินหายตัวไปเพื่อให้คุณวิ่งไล่ตาม เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องฝึกวินัยบทใหม่ให้กับเขาแล้ว คุณจะต้องทำให้ลูกรู้ว่าคุณจะคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับเขา เมื่อเห็นเขากำลังจะวิ่งหายไป ให้คุณเรียกชื่อเขา เมื่อเขาหันมองมาทางคุณ จ้องตามเขาแล้วบอกกับเขาว่า “มาอยู่ใกล้ๆ คุณแม่ดีกว่ามา” คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เจ้าหนูสามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นนั่นหมายถึงว่าอุปสรรคในการฝึกวินัยได้เกิดขึ้นอีกแล้ว แต่ไม่นานทั้งคุณ และเจ้าหนูจะร่วมกันสร้างรูปแบบวินัยที่จะมีบทบาทใช้ในอีกหลายปีต่อมา

 

 

อารมณ์เกรี้ยวกราด

 

บางครั้ง เด็กในวัยเตาะแตะจะรู้ว่าเขามีสิทธิที่จะเลือกตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการตัดสินใจของเขาอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเขาแล้ว เป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว และเมื่อใดก็ตามที่การตัดสินใจของเขาไม่ได้รับการยอมรับ เขาจะล้มลงกับพื้นและเริ่มตีโพยตีพายทันที ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เขาบีบบังคับให้พ่อแม่เหลืออดจนเผลอตอบโต้เขากลับแรงๆ ได้ แต่โดยความจริงแล้วการดุว่าแรงๆ หรือการตี ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

 

 

อย่างไรก็ตาม ลูกของคุณอาจไม่ยอมหยุดกรีดร้องเอาแต่ใจง่ายๆ ตราบใดที่ยังเห็นพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งอาจทำให้แม่พูดออกไปโดยไม่รู้ตัวว่า “ลูกควบคุมตัวเองไม่ได้แล้วนะ” แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น ถ้าคุณเดินจากไป (ดูว่าลูกปลอดภัยดี) ก็อาจเป็นการบอกเขากลายๆ ว่า “ลูกสามารถสงบสติอารมณ์เองได้”

 

 

ในกรณีที่คุณไม่สามารถเดินทิ้งเขาไปได้ ไม่ว่าจะด้วยอยู่ในสถานที่ที่เป็นสาธารณะ หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเขา คุณอาจต้องอุ้มเขาขึ้นมานั่งบนตัก ให้หันหน้าออกไปข้างหน้า จับมือของเขาทั้งสองข้างให้วางบนตักของเขาเอง ถ้ายังดิ้นอยู่ให้ใช้มือ หรือขาของคุณล็อคขาเขาไว้ ระวังอย่าให้เขาเจ็บ ให้อยู่ในท่ากอดเขาไว้แน่นๆ พอจะทำให้เขาไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้สะดวก จากนั้นใช้มือโน้มศีรษะเขาเข้ามาแนบใบหน้าคุณ กระซิบปลอบโยนเขาเบาๆ ที่ข้างหู หรือร้องเพลงโปรดกล่อมเขาเบาๆ จะช่วยให้เขานิ่งลงได้

 

 

แต่ถ้าหากคุณกอดเขาก็แล้ว ปลอบเขาก็แล้ว ร้องเพลงกล่อมเขาเบาๆ ก็แล้ว ลูกก็ยังไม่ยอมสงบลงง่ายๆ ไม่ว่าคุณจะกอดเขานานขึ้น และทำเหมือนเดิมซ้ำๆ ในทุกครั้งที่เขาอารมณ์เสีย ก็เห็นทีว่าคุณอาจต้องปรึกษาคุณหมอเด็กแล้วครับ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเอาไว้ด้วยว่า การอุ้มลูกขึ้นมากอดเอาไว้แล้วปลอบให้เขาหยุดกรีดร้องควรเป็นวิธีสุดท้ายที่คุณคิดว่าจะทำเมื่อลูกร้องไห้เอาแต่ใจ แต่ให้หมั่นคอยอุ้ม และกอดเขาอยู่เสมอแม้ในเวลาปกติเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกใช้วิธีกรีดร้องเพื่อเรียกร้องให้คุณอุ้มเขาขึ้นมากอดนั่นเอง

 

 

ช่วงเวลาที่คุณอุ้มลูกน้อยเจ้าอารมณ์ขึ้นมากอดเพื่อปลอบโยน คุณจำเป็นจะต้องใจเย็น และหนักแน่นพอสมควร เพื่อให้ลูกได้เห็นถึงพฤติกรรมแบบอย่างที่ดีของคุณ การร้องเพลง หรือโยกเขาเบาๆ บนตักของคุณ เป็นวิธีการสอนให้ลูกจักกล่อมอารมณ์ตัวเองให้สงบด้วยตัวเองซึ่งคุณจะต้องทำใจให้นิ่งต่ออารมณ์ของเขาให้มาก

 

 

และเมื่อลูกเงียบลงแล้ว ชี้ให้เขาเห็นว่ามีสิ่งใดที่เขาจะใช้ปลอบประโลมตัวเองได้ เช่น “หนูชอบฟังเพลงใช่ไหมลูก สูดหายใจเข้าลึกๆ กอดแม่แน่นๆ นั่งโยกกับแม่แล้วทำให้หนูรู้สึกดีขึ้นใช่ไหม” ลูกจะมั่นใจในอารมณ์ที่ดีขึ้นของตัวเองมากขึ้น หยุดอารมณ์ที่ขุ่นมัว และเรียนรู้วิธีที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเอง ซึ่งเป้าหมายในการฝึกวินัยของเรา ก็คือการฝึกให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างวินัยในตนเองชนิดหนึ่งนั่นเองครับ

 

 

ขวบปีที่สอง

 

“หนูอยากได้อันนั้น เดี๋ยวนี้เลย” “ไม่ได้ลูก มันไม่ใช่ของเล่น” ลูกสาววัยเตาะแตะของคุณเดินไปคว้าเอาที่ทับกระดาษแก้วมาไว้ในมือ “วางลงบนโต๊ะนะลูก” ความตื่นตะลึงกับของที่อยู่ในมือทำให้ยัยหนูไม่ได้ยินสิ่งที่คุณพ่อพูด แต่คุณพ่อรีบเข้าไปคว้าของในมือน้อยๆ ของลูกกลับคืนมาได้รวดเร็วอย่างชาญฉลาด ถึงตอนนี้ ยัยหนูทิ้งตัวลงไปกองกับพื้น แล้วเริ่มแผดเสียงแสดงความไม่พอใจ “เล่นไม่ได้ลูก เดี๋ยวหล่นแตกนะ” เธอยังคงร้องสะอึกสะอื้น “เสียใจด้วย มันไม่ใช่ของเล่นลูก คุณพ่อต้องเอาไปเก็บ ไม่งั้นเดี๋ยวหนูจะทำแตกได้ ถ้าหนูควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พ่อก็ต้องช่วยหนูนะ”

 

 

หลังร้องไห้อย่างหนักจนตัวโยกตัวคอนแล้ว ยัยหนูจะค่อยๆ สะอื้นช้าลง ถึงตอนนี้ให้คุณอธิบายเหตุผลของคุณกับเธอ “ของมันแตกได้ง่ายนะจ้ะลูก ถ้าหนูทำมันหล่นแตกหนูก็จะรู้สึกไม่มีด้วย” ยัยหนูอาจมองหน้าพ่อทั้งๆที่ดวงตายังเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา “หนูอยากให้พ่อกอดไหม” ยัยหนูจะกางแขนทั้งสองข้างออกเพื่อเป็นสัญญาณให้คุณกอดเธอ ถึงตอนนี้เธอก็ลืมที่ทับกระดาษตัวต้นเหตุไปเสียแล้ว

 

 

ในช่วงวัยสองขวบ เด็กวัยเตาะแตะเริ่มเข้าใจเรื่องเหตุ และผลได้บ้างแล้ว เขาจะรู้ว่าการกระทำสิ่งหนึ่ง อาจก่อให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่งขึ้นได้ เช่นเขารู้ว่า ถ้าเขาโยนที่ทับกระดาษแก้วนั้นลงกับพื้น อาจทำให้แตกได้ ถ้าเขาปีนขึ้นไปบนโต๊ะกาแฟ เขาก็อาจพลัดตกลงมาจนเจ็บตัวได้ และเมื่อเขามีความเข้าใจในเรื่องเหตุและผลดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้เข้ามีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินอะไรเองบ้าง อย่างไรก็ตาม การหยุดความต้องการของตัวเอง หรือการควบคุมตัวเองยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่สำหรับเด็กวัยนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้ประสบการณ์เรื่องเหตุและผลมาช่วยในกาควบคุมตัวเองอาจยังต้องใช้เวลาฝึกกันอีกนาน ซึ่งจะเป็นเป้าหมายระยะยามในการฝึกวินัย

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

(Some images used under license from Shutterstock.com.)