
© 2017 Copyright - Haijai.com
เรื่องกลัวกลัว เมื่อยามตั้งครรภ์
น่าเห็นใจอยู่คะ กับว่าที่คุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ขณะนี้ เพราะการตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้นถือได้ว่าเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ และตลอดระยะเวลาช่วง 9 เดือนที่ผู้หญิงท้องนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และรวดเร็วด้วย จนทำให้ว่าที่คุณแม่เกิดอาการกลัว ไม่ชินกับเรื่องที่ตัวเองนั้นต้องเผชิญ ความกลัวเหล่านี้อาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ หากว่าที่คุณแม่ทั้งหลายไม่มีความรู้ หรือการเข้าใจถึงอาการต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง การทำความเข้าใจก่อนตั้งครรภ์ถึงลักษณะอาการที่จะเกิดในช่วง 9 เดือนนี้ ก็จะสามารถช่วยให้คลายความกังวล และความกลัวลงได้บ้างคะ
แน่นอนคะว่าการทำความเข้าใจกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ กับว่าที่คุณแม่ และควรที่จะปฏิบัติตามด้วยความมั่นใจ และความสุขคะ รวมถึงว่าที่คุณพ่อด้วย ควรที่จะทำความเข้าใจไปพร้อมกันกับคุณแม่ เพื่อที่เวลามีปัญหาจากอาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น จะได้ช่วยกันปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เรื่องกลัวของคุณแม่อย่าปล่อยไว้นาน มิเช่นนั้นอาจจะส่งผลได้ทั้งต่อตัวคุณแม่เอง แล้วก็ส่งผลถึงทารกน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้นเรามาไขข้อข้องใจจากอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นให้กับว่าที่คุณแม่ได้โล่งใจกันนะคะ
เรื่องหนัก หนัก ของน้ำหนักตัว จะทำไงดี
ตามธรรมดาทั่วไป คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้นอยู่ระหว่างที่ 10-15 กิโลกรัม ในระยะ 3 เดือนแรก น้ำหนักตัวอาจขึ้นน้อยหรือไม่ขึ้นเลย บางรายที่แพ้ท้องมาก น้ำหนักตัวอาจลดลง ซึ่งในกรณีหลังนี้ควรไปปรึกษาคุณหมอที่คุณแม่ได้ฝากกครรภ์ไว้ หลังจาก 3 เดือนไปแล้วน้ำหนักจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น หรือน้อยเกินไป อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้ ในรายที่มีปัญหาแพทย์ที่ดูแลครรภ์มักจะแนะนำเรื่องของการบริโภคอาหารที่ถูกต้องในแต่ละมื้อ ว่าคนที่ตั้งครรภ์นั้นควรมีอุปนิสัยในการทานอย่างไร เพื่อจะได้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ถูกต้อง
ท้องนี้ปัสสาวะบ่อย จะเป็นอะไรมั้ยนะ
อาการปวดปัสสาวะเกิดจากกระเพาะปัสสาวะเต็มปรี่อันเป็นอาการเริ่มแรกของการตั้งครรภ์นั่นเอง กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะเริ่มคลายตัวลงเมื่อฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มมากขึ้น คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเอ๊ะปวดฉี่อีกแล้ว มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะไปกดกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย อาการปัสสาวะบ่อยนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อย่างเข้าการตั้งครรภ์ระยะที่สอง ซึ่งมดลูกจะสูงขึ้นมาถึงระดับโพร่งช่องว่างในท้องจนรู้สึกสบายขึ้น
มือบวมเป็นสัญญาณอันตราย อะไรหรือเปล่า
อาการมือบวมนี้ เป็นอาการบวมจากน้ำในตัวซึ่งเป็นอาการข้างเคียงปรกติในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ด้วยมีสาเหตุมาจากโซเดียมในตัวมีปริมาณสูง ฉะนั้นควรที่จะเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้น้ำในตัวมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มพรวดมากขึ้น และมีอาการบวม นั่นเป็นสัญญาณอันตรายของอาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรที่จะแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์คุณแม่ทันที
ครรภ์เป็นพิษ อะไรกันเนี่ย คืออะไร อันตรายหรือเปล่า
ครรภ์เป็นพิษ หรือที่เรียกว่า ภาวะความดันเลือดสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์ มักจะพบได้ร้อยละ 5-10 ของการตั้งครรภ์ พบในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความดันเลือดสูงมาก่อน ภาวะแทรกซ้อนนี้จะพบได้มากในหญิงตั้งครรภ์แรกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ที่มีการฝากครรภ์สม่ำเสมอจะตรวจพบอาการแทรกซ้อนนี้ได้เร็ว และป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้ ดังนั้นการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอโดยที่ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใดจะให้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้มาก เพราะจะสามารถตรวจพบอาการของโรคแทรกซ้อนนี้ได้ในระยะเริ่มเป็น นอกจากนี้คุณแม่อาจตรวจสอบตัวเองได้ เช่น มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่คุณไม่ได้กินอาหารเพิ่มมากไปจากเดิมเลย มีอาการบวมที่ใบหน้า และมืออย่างมาก ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ ตาพร่ามัว ทันทีที่มีอาการเหล่านี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งควรที่จะปรึกษาแพทย์ทันที
อยากสุขภาพดีทั้งแม่ และลูกในครรภ์ จะออกกำลังกายได้หรือเปล่า
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง การเริ่มต้นออกกำลังกายควรเริ่มจากวันเว้นวัน หรืออาทิตย์ละ 3 ครั้ง อย่าหักโหม และค่อยๆ เพิ่มขนาดตามความสามารถ ก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ และควรออกอย่างไร กีฬาสำหรับคุณแม่ครรภ์ คือ การว่ายน้ำ การออกกำลังกายในน้ำ การเดิน ถีบจักรยานบนบก และการเต้นแอโรบิคในน้ำ เป็นต้น เพราะคุณแม่จะไม่บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ไม่ต้องลงน้ำหนัก ไม่ต้องกระแทก แต่เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้เลือดได้มีการหมุนเวียน การออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องไม่ทำแบบหักโหมจนเกินไป ควรปริมาณจากการที่เคยออกไว้ตอนก่อนยังไม่ตั้งครรภ์ ให้เหลือเพียงร้อยละ 75-80 และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้ตัวคุณแม่บาดเจ็บ
กีฬาต้องห้าม ยามตั้งครรภ์
• วิ่งเหยาะมากกว่า 1 กิโลเมตร
• ขี่ม้า
• สกีน้ำ
• ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ
• ดำน้ำลึก
• ขี่จักรยานแข่ง หรือในทางที่เปียก ในลู่วิ่งแข่ง
• กีฬาที่มีการจับต้องตัวบุคคล เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล
• กาบบริหารทุกชนิดที่ไม่ได้เป็นแบบเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เช่น การทำซิตอัป การโหนบาร์ เป็นต้น
การออกกำลังกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)