Haijai.com


การเข้าใจวิธีการคิด และความรู้สึกของเด็ก ตอน 2


 
เปิดอ่าน 1396

การเข้าใจวิธีการคิด และความรู้สึกของเด็ก ตอน 2

 

 

เรื่องของการเข้าใจวิธีการคิด และความรู้สึกของลูกต่อในวัย 3 ปี ถึง 9 ปีคะ ซึ่งเป็นการเข้าใจต่อจากตอนที่แล้วของลูกในวัยแรกเกิด-3 ปี ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่อ่านและทำความเข้าใจให้ดีก็จะรู้ว่าลูกในวัยต่างๆ นั้นเข้าคิด หรือมีการแสดงออกอย่างไร เพื่อที่คุณพ่อและคุณแม่จะได้เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ของลูกได้อย่างเข้า และเข้าถึงวิธีการที่จะปฏิบัติกับลูกได้ดีกว่าเดิม

 

 

วัย 3 ถึง 5 ปี

 

ในวัยนี้จิตใจของลูกจะพัฒนาไปอย่างมาก ลูกจะเข้าใจว่าเขาสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องอะไรก็ได้ เวลาที่ลูกเห็นอะไรใหม่ๆ เขาก็จะอยากรู้ว่ามันคือะไร ใช้ทำอะไร ลูกจะถามคำถามมากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสร้างฐานความรู้ที่แข็งแรงเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องของลูก โดยการตอบคำถามในลักษณะที่คำนึงถึงความรู้สึกของลูก และในวัยนี้การเล่นของลูกคือ “งาน” ของลูก  การเล่นมีความสำคัญมากสำหรับลูกในการพัฒนาความเข้าใจหรือเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่น ฉะนั้นในระยะนี้จะเป็นงานสำคัญที่พ่อแม่จะต้องบ่มเพาะความมั่นใจของลูกในความสามารถของลูกเอง โดยทำสิ่งต่อไปนี้ ตอบคำถามของลูก หรือช่วยให้เขาหาคำตอบให้ได้, ช่วยให้ลูกมีเวลาเล่น, กระตุ้นให้ลูกได้ช่วยทำสิ่งต่างๆ

 

 

วัย 5 ถึง 9 ปี

 

ในวัยนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของเด็ก และของพ่อแม่ด้วย ในระยะนี้เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มไปโรงเรียน เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียน โลกของเขาก็จะเปลี่ยนไป และเขาต้องรีบเรียนรู้สิ่งต่อไปนี้ คือ

 

 จัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาด้วยตัวเอง โดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย

 

 

 ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่หลายคน ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน

 

 

 ตอบสนองความคาดหวังของผู้ใหญ่อีกหลายคนที่เป็นคนหน้าใหม่ในชีวิต

 

 

 ปฏิบัติตามตารางเรียน และกิจวัตรประจำวันต่างๆ

 

 

ซึ่งประสบการณ์ครั้งแรกเหล่านี้ที่เด็กๆ ได้ไปเจอมาที่โรงเรียนจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กที่จะมีต่อโรงเรียน และการเรียนรู้ในอนาคตต่อไป

 

 

นี่คือลักษณะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปของเด็กที่มีอิทธิพลต่อความพร้อมในการไปโรงเรียนเป็นอย่างมาก คือ เด็กบางคนจะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมใหม่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น จะปรับตัวกับกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และจะสนุกกับการมีเพื่อนใหม่  แต่เด็กบางคนจะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมใหม่นั้นทำให้เครียด จะใช้เวลาค่อนข้างนานในการปรับตัวกับกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ และรู้สึกว่าการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่เป็นเรื่องยาก ลักษณะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันของเด็กๆ จึงจำเป็นที่พ่อแม่จะต้องให้ความสำคัญและต้องเข้าใจลักษณะทางอารมณ์ของลูก และยอมรับลักษณะเฉพาะตัวของลูกแต่ละคน พ่อแม่จะต้องมองให้ออกได้ว่าอะไรเป็นความเข้มแข็งของเด็กแต่ละคน แล้วส่งเสริมตรงนั้นให้ดียิ่งขึ้น และสามารถแยกแยะได้ว่าตรงไหนที่เป็นความยากลำบากเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้เขาประสบความสำเร็จได้  งานหลักของพ่อแม่ในเด็กระยะนี้ก็คือ การให้การสนับสนุน และนำทางแก่ลูก เด็กๆ จะมองมาที่เราเมื่อเขาต้องการแบบอย่าง และผู้ชี้นำทาง
การเข้าใจวิธีการคิด และความรู้สึกของเด็กในแต่ละวัยที่ได้นำเสนอไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่าลูกของเรา เขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เพราะเราคนเป็นพ่อแม่จะได้ส่งเสริมพัฒนาการของลูก โดยอาศัยรากฐานที่เราได้สร้างไว้ก่อนแล้วในวัยก่อนหน้านี้ และเราสามารถเตรียมสถานการณ์ให้พร้อมสำหรับลูกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองในวัยที่ย่างเข้าวัยรุ่นต่อไปได้คะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)