
© 2017 Copyright - Haijai.com
Let’s Pretend Play เรื่องของดาราช่างสมมติ
“ตามข้ามา เจ้าวัวน้อย”
“เอาล่ะ นั่งพักตรงนี้ก่อน”
เจ้าตัวน้อยส่งเสียงเจื้อยแจ้วออกมาจากมุมหนึ่งของบ้าน จนทำให้คุณแม่อดสงสัยไม่ได้ว่าลูกกำลังพูดกับใครอยู่หนอ เมื่อชะโงกหน้าไปดูจึงพบลูกรัก นำผ้าห่มสีหวานมาคลุมตัว พื้นด้านหลังมีตุ๊กตานานาสัตว์วางอยู่เต็มไปหมด ซึ่งช่วงที่คุณแม่เห็นที่แอบดูอยู่นั้น หนูน้อยกำลังสยายผ้าห่มที่เอามาคลุม พร้อมกับพูดว่า “เจ้าหญิงมาแล้วจ๊ะ” พอดี คุณอดอมยิ้มกับความเป็นดาราเจ้าบทบาทของลูกไม่ได้ อีกใจหนึ่งก็สงสัยว่าเพราะอะไรหนอ ลูกเราจึงชอบสวมบทบาทเป็นโน่นเป็นนี่เสียจริงๆ
จินตนาการ ในโลกใบเล็ก
สิ่งที่คุณแม่สงสัยนั้นมีคำตอบค่ะ หนูน้อยวัยอนุบาลเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย และการเล่นบทบาทสมมติของคุณหนูๆ นั้น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลูกจะได้เลียนแบบความเป็นไปภายในโลก จากสิ่งที่เขาได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญในโลกใบเล็กของเด็กๆ และหากคุณสนับสนุนให้ลูกได้เล่นหรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการแล้วล่ะก็ คุณก็ยังจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย ไม่ว่าจะเป็น
• ทักษะ การเข้าสังคม ทักษะสังคมของหนูน้อยวัยอนุบาลเป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ ทั้งเรื่องของการแบ่งปัน การฝึกเป็นผู้พูด ผู้ฟังที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยลูกให้เข้ากับเพื่อนๆ และอยู่ร่วมกับคนหมู่มากได้อย่างมีความสุข
• พัฒนาอารมณ์ การเล่นบทบาทสมมติที่มีฉากของความผิดหวังเสียใจ โกรธ อิจฉา จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาอารมณ์ของตนเองเมื่อเจอเรื่องไม่คาดฝัน นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ที่จะเห็นใจคนรอบข้างเมื่อเจอเรื่องราวเศร้าๆ อีกด้วย
• ความคิดสร้างสรรค์ ในโลกแห่งจินตนาการนั้นเด็กสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ และเชื่อหรือไม่ค่ะว่าเด็กๆ ที่ชอบเล่นบทบาทสมมตินั้นจะทำคะแนนในวิชาที่ต้องใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
• ฝึกระเบียบวินัย ใครจะเชื่อว่าการเล่นบทบาทสมมติจะช่วยฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มีวินัยได้ หากคุณเห็นเจ้าตัวน้อยกล่อมให้ตุ๊กตานอนหลับบนเตียงอยู่บ่อยๆ ล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณหนูๆ กำลังเรียนรู้เรื่องของกิจวัตรที่ควรทำในแต่ละวัน หนูน้อยอาจกำลังสวมบทเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่เลี้ยง ที่พาน้องตุ๊กตาเข้านอน ตื่นมาพาไปแปรงฟัน กินข้าว ซึ่งหากหนูน้อยเล่นแบบนี้บ่อยๆ เขาก็จะค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง คุณอาจจะเคยได้ยินลูกน้อยพูดกับตุ๊กตาเพื่อนรักว่า “กินคุกกี้อีกแค่ชิ้นเดียวพอรู้ไหม เดี๋ยวก็ไม่ได้กินข้าวกันพอดี” เมื่อลูกสมมติตัวเองเป็นพี่เลี้ยงเช่นนี้ ก็จะทำให้เขาเข้าใจเรื่องระเบียบวินัย และทำตามกฎได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ
• ลดความเครียด ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เจ้าตัวน้อยต้องเจอไม่ว่าจะเป็น ห้องเรียนใหม่ ย้ายบ้าน มีน้องใหม่ ฝึกขับถ่าย ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดอาการเครียดได้ทั้งสิ้น การเล่นบทบาทสมมติ อยู่ในโลกของจินตนาการจะช่วยทำให้หนูน้อยหลุดพ้นจากความกังวล และค่อยๆ ปรับตัวรับเรื่องใหม่ๆ ได้ในที่สุด
ปลูกจินตนาการในใจลูก
แม้ว่าเรื่องของจินตนาการ และการเล่นบทบาทสมมตินั้นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับหนูน้อยในวัยนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่การปลูกฝังและสร้างพื้นฐานเพื่อให้ลูกมีข้อมูลที่ดี ในการจะนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดความคิดนั้น เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะต้องส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการด้านการคิด ตั้งแต่หนูน้อยยังเล็ก เพื่อให้ลูกมีข้อมูลเพียงพอในการคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยปลูกจินตนาการให้ลูกได้ ด้วยการเล่านิทานค่ะ ไม่ว่าจะเป็นซินเดอเรลล่า วินนี่ เดอะ พูห์ หรือจะเป็นเรื่องไทยๆ อย่างอีเล้งเค้งโค้ง ฯลฯ เพราะนิทานเปรียบเสมือนเป็นอาหารเสริมของจินตนาการ ขณะที่คุณเล่า อย่าลืมใส่เสียง สีหน้าท่าทาง ให้เข้ากับเนื้อเรื่อง และชวนให้ลูกมีส่วนร่วม เช่น คุณอาจเปลี่ยนชื่อตัวละครให้เป็นชื่อของลูก หรือถามความคิดเห็นว่า ลูกคิดว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้น เมื่อมีโอกาส ก็ควรเชื่อมโยงเรื่องในนิทานกับโลกแห่งความจริงให้ลูกเห็น เช่น ขณะนั่งรถไปด้วยกัน คุณอาจชี้ให้ลูกดูคุณตำรวจแล้วบอกว่า “นี่ไงค่ะ ตำรวจ เหมือนกับในนิทานที่แม่เล่าให้ฟังเลย คุณตำรวจมีวิทยุสื่อสารด้วยเห็นไหม” ชี้ให้ลูกเห็นว่าบุคคลในอาชีพต่างๆ แต่งตัวอย่างไร มีเครื่องมือประจำตัวอะไร เพื่อให้เด็กๆ ได้นำไปจินตนาการบทบาทสมมติต่อ
หากเจ้าตัวดีลีลาท่ามาก ไม่ยอมแต่งตัวไปโรงเรียนสักที ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ เป็นตัวช่วย ด้วยการเอาถุงเท้าของลูกสวมไปที่นิ้วมือของคุณ แล้วพูดว่า “มนุษย์ถุงเท้า บอกว่าได้เวลาแต่งตัวแล้วจ้า!!!” อย่าลืมดัดเสียงและทำหน้าตาให้ตื่นเต้น วิธีนี้รับรองได้ผล
เล่นกับลูกอย่างไรให้สนุก
บางครั้งเจ้าตัวน้อยก็อาจต้องการให้คุณมาเป็นเพื่อนเล่น หรือมานั่งดูอยู่ใกล้ๆ ด้วย สิ่งที่คุณควรทำคือ
• อุปกรณ์ครบ คุณไม่จำเป็นต้องสรรหาเสื้อผ้าเจ้าหญิงครบชุด หรือเสื้อคลุมแบทแมนพร้อมหน้ากากอย่างดี เพิ่มให้เป็นของเล่นของลูกค่ะ สิ่งง่ายๆ ใกล้ตัว และของเล่นที่คุณสามารถประดิษฐ์เองได้ อย่างตุ๊กตาหุ่นมือ เพียงเท่านี้ก็ช่วยส่งเสริมจินตนาการให้เจ้าตัวเล็กได้มากมายแล้ว นอกจากนี้ ตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ โทรศัพท์ของเล่น ถุงผ้า หรือกระทั่งกล่องกระดาษ ก็สามารถเป็นของเล่นสำหรับเจ้าตัวน้อยได้ อย่าลืมค่ะว่า ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์นั้นมาจากการประยุกต์สิ่งที่มีให้นำมาเล่นได้หลายรูปแบบ
• เคารพลูก เมื่อคุณเล่นบทบาทสมมติกับลูก พยายามอย่าเข้าไปบงการ หรือบอกให้ลูกทำโน่นนี่อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเด็กๆ ก็อาจจะอยากให้คุณเป็นผู้ชมมากกว่าจะเข้ามามีส่วนร่วม หากคุณต้องการจะช่วยลูก คุณอาจเสนอทางเลือก แทนที่จะบอกทางออกให้กับลูกเช่น เมื่อหนูน้อยไม่สามารถแต่งตัวให้ตุ๊กตาได้ และคุณเห็นว่ากางเกงตัวนั้นเล็กเกินกว่าจะใส่ให้ตุ๊กตาตัวใหญ่ได้ลองบอกว่า “กางเกงตัวเล็กไปหรือเปล่าค่ะ หรือว่าลูกจะให้ตุ๊กตาใส่กระโปรงดี” แล้วปล่อยให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจ
เตรียมไว้ ให้ลูกเล่น
สิ่งของที่มีภายในบ้านเหล่านี้ จะแปลงร่างเป็นของเล่นให้ลูกได้เป็นอย่างดี
Let’s Go Shopping-เล่นขายของ
• ถุงกระดาษ
• แบ๊งค์กาโม่
• เครื่องคิดเงินของเล่น
• กล่องซีเรียลเปล่า กล่องนมที่ล้างสะอาดแล้ว ฯลฯ
Tips ถ้าลูกเริ่มเบื่อเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ต ลองเปลี่ยนเป็นร้านขายรองเท้าแทน
Little Doctor คุณหมอตัวน้อย
• ของเล่นเด็กชุดอุปกรณ์แพทย์
• พลาสเตอร์สำหรับเด็ก
• ตุ๊กตา(เพื่อเป็นคนไข้)
• ไม้ไอศกรีม สำหรับเป็นปรอทหรือที่กดลิ้น
Tips ถ้าลูกเบื่อเป็นคุณหมอ นำตุ๊กตาหมาแมวที่มีออกมา แล้วเสนอให้ลองเล่นเป็นสัตวแพทย์
Etc อุปกรณ์เสริมอื่นๆ
• ผ้าห่ม
• ลังเปล่าขนาดใหญ่
• แกนกระดาษทิชชู
Tips อุปกรณ์เหล่านี้ดัดแปลงเป็นสิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย ตามแต่จินตนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)