
© 2017 Copyright - Haijai.com
พัฒนาการและจิตวิทยาเด็ก
ถามหมอ ดิฉันมีลูกชาย 2 คน คนโตอายุ 5 ขวบครึ่ง คนเล็กอายุ 6 เดือนที่ผ่านมาคนโตได้รับความรักความอบอุ่นตลอด แต่ตอนนี้แม่ต้องดูแลลูกคนเล็ก เขาจึงรู้สึกว่าแม่ไม่รักหรือเปล่า ทั้งที่เขาก็รักน้อง หอม กอดน้องปกติดี แต่มักจะเรียกร้องความสนใจจากแม่ตลอด บางครั้งก็งอนเหมือนเด็กผู้หญิง อย่างนี้เป็นอาการอิจฉาน้องหรือเปล่า และทำอย่างไรให้เขาเข้มแข็งสมเป็นลูกผู้ชายค่ะ
หมอตอบ ปัญหาพี่อิจฉาน้องเป็นปัญหาปกติที่พบได้ในหลายๆ ครอบครัว และมักเกิดกับเด็กที่วัยน้อยกว่า 6 ปี (หรือที่เราเรียกว่าช่วงวัยก่อนเข้าเรียน และวัยอนุบาล) เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นวัยที่สนใจแต่ตนเอง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Self Center) รวมทั้งยังยึดติดพ่อแม่และครอบครัวมาก ซึ่งต่างจากเด็กวัยเกิน 6 ปี หรือวัยประถมต้นซึ่งเป็นวัยที่มีความคิดเจริญพัฒนามากขึ้น สนใจสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น เพื่อน คุณครู โรงเรียน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านมากขึ้น การอิจฉาน้องจึงพบได้น้อยกว่า
หลังจากคุณแม่คลอดน้องคนใหม่ จะพบว่าลูกคนก่อนมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในลักษณะอิจฉาน้องเพราะเด็กต้องการให้พ่อแม่รักตนเองมากๆ รักตนเองคนเดียว เหมือนก่อนจะมีน้อง เด็กจึงมักแสดงพฤติกรรมเพื่อเป็นการทดสอบพ่อแม่ว่ายังรักตนเหมือนเดิมหรือไม่ พฤติกรรมการอิจฉาน้องจึงเป็นไปได้หลายแบบ ขึ้นกับพื้นอารมณ์ของเด็กที่มีต่อน้อง การกระทำของพ่อแม่และคนในครอบครัว โดยอาจแสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น
• เฉยๆ ไม่สนใจเล่นกับน้อง
• บอกตรงๆ ว่าไม่ชอบน้อง เกลียดน้อง
• ตีน้อง หยิกน้องแรง ซึ่งอาจทำต่อหน้าหรือลับหลังก็ได้
• มีพฤติกรรมถดถอยกลับไปเป็นเด็กเล็ก เช่น ให้แม่ป้อนข้าว ไม่ยอมแต่งตัวเอง ให้แม่อาบน้ำให้เหมือนน้อง
• มีอารมณ์หงุดหงิด แปรปรวน โมโหง่ายขึ้น
พฤติกรรมการอิจฉาน้องเหล่านี้ อาจเป็นเพียงอารมณ์ชั่วคราว ถ้าพ่อแม่คนใกล้ชิดตอบสนองได้อย่างเหมาะสม และทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่าพ่อแม่ยังรักเขาเหมือนเดิม เด็กก็จะสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้แต่ถ้าเด็กได้รับการดูแลตอบสนองที่ไม่เหมาะสม ปัญหานี้อาจจะเพิ่มความรุนแรงและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้
สำหรับลูกของคุณแม่ที่เล่ามา นับว่าน้องคนโตยังมีพฤติกรรมที่ดี ยังรักน้องอยู่ อารมณ์หงุดหงิดแปร ปรวนเป็นปัญหาชั่วคราวในการปรับตัวเท่านั้น คุณแม่ควรชื่นชมน้องในทางบวก ให้เขารู้สึกภูมิใจในความเป็นพี่ที่ดี เช่น บอกว่าหนูเป็นเด็กน่ารักมากที่รักน้อง หนูเป็นเด็กดีที่ช่วยแม่ดูแลน้อง เมื่อลูกได้รับการตอบสนองเช่นนี้ เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกดีที่แม่ชื่นชมเขา
ข้อสำคัญ คุณแม่ควรแบ่งเวลาให้มีกิจกรรมตัวต่อตัวกับลูกคนโตบ้าง เช่น สอนการบ้าน เล่นด้วยกัน พาไปเที่ยว น้องจะได้รู้สึกว่าคุณแม่ยังรักเหมือนเดิม ไม่ได้ให้เวลากับน้องคนเดียว รวมทั้งพ่อแม่ควรฝึกใจยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ไม่ควรเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะทำให้เด็กน้อยใจ และรู้สึกอยากแข่งขัน นำไปสู่การแตกแยกในหมู่พี่น้องได้
ขอเอาใจช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาเหนื่อยๆ นี้ไปให้ได้นะคะ อย่าลืมดึงคุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเลี้ยงน้องด้วยนะคะ
“พ.ญ.รชฏา กสิภาร์”
กุมารแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)