
© 2017 Copyright - Haijai.com
กฏหมายกับครอบครัว
แม่ถาม มีเพื่อนหลายคนที่เขาแต่งงานมีครอบครัวออกไป ดูจากคนภายนอกก็เหมือนครอบครัวเขาจะมีความสุขดี แต่ก็มีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่มาภายหลังว่าเขาต้องอดทนอยู่ในสภาพถูกทำร้ายทางกายและใจจากสามี ไม่ทราบว่ากรณีนี้ในฐานะภรรยาเราสามารถปกป้องตัวเองในกรณีที่ภรรยาที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และได้ยินว่าขณะนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวใช่หรือไม่ค่ะ แล้วถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ กฎหมายจะช่วยอะไรได้บ้างคะ
แม่ตอบ สวัสดีค่ะ คุณแม่ตัวเล็กเข้าใจถูกต้องแล้วคะ ในเรื่องของกฎหมายครอบครัว ซึ่งเพิ่งมีออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 นี่เอง โดยชื่อว่า “พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550” ค่ะ
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต้องการจะคุ้มครองไม่ให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคคลในครอบครัว ซึ่งก็หมายถึง ทั้งสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสและไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือกระทั่งที่เคยเป็นสามีภรรยากันแต่เลิกกันไปแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายนี้ นอกจากนั้นก็รวมถึงลูกๆ ลูกบุญธรรม สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใดๆ ที่ต้องอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เช่น ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หลาน หรือแม่บ้าน คนขับรถ ฯลฯ ที่อาศัยในบ้านหลังนั้นด้วย
ซึ่งหากจะว่าไปแล้วกฏหมายฉบับนี้จะคุ้มครองมากขึ้น เพราะแค่เรียกว่าแค่มี “การกระทำอันเป็นความรุนแรง” ไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจ ผู้กระทำก็มีความผิดแล้ว เช่น สามีด่าภรรยาทุกๆ วัน ด้วยคำพูดดูถูกเหยียดหยาม ทำให้เกิดผลกระทบทางใจ ก็เป็นความผิดได้ หรือพ่อแม่ถือด้ามไม้กวาดมาตั้งท่าจะตีลูก แต่ยังไม่ได้ตี หากมีผู้พบเห็นและมาแจ้ง พ่อแม่ก็ผิด ได้เหมือนกัน เพราะเป็นการกระทำที่ “น่าจะ” ทำให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ยังรวมถึงการขู่บังคับ สามีขู่เอาเงินจากภรรยาไปซื้อเหล้า อย่างนี้ก็ถือเป็นความรุนแรงด้วย
สรุปก็คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ “มุ่ง” หรือ “ทำให้เกิด” หรือ “น่าจะเกิด” อันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคล ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดความเสียหาย บาดเจ็บกันก่อน แค่ว่าน่าจะเกิดอันตรายก็อยู่ในบังคับกฎหมายนี้แล้ว ซึ่งผู้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว กฎหมายให้ผู้ถูกกระทํา หรือผู้ที่ “พบเห็น” หรือ “ทราบ” การกระทํา ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ได้แก่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจะแจ้งโดยวิธีใดๆ ก็ได้นะคะ ทั้งไปแจ้งด้วยตัวเอง โทรศัพท์ แฟกซ์ หรืออีเมลก็ได้และถ้าเป็นการแจ้งโดยสุจริต ผู้แจ้งจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องรับผิดจากการที่เราไปแจ้งความ
ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คุณลูกสาวสอง
รองผู้อำนวยการ หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต
ภาคบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)