
© 2017 Copyright - Haijai.com
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
ในคุณแม่ตั้งครรภ์เกือบจะทุกคนมักที่จะมีอาการไม่สบายตัวในระหว่างวันเที่กิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ทำให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายอารมณ์ หรือในบางวันในช่วงที่ตื่นนอนตอนเช้า ก็มักจะมีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย จุกแน่นหน้าอก หนักสุดก็ถึงขั้นอาเจียน เพลีย ไม่อยากทานอาหาร อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสแรก แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์เกือบตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 40 สัปดาห์ นั่นเป็นเพราะระดับฮอร์โมน รวมไปถึงความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนด้วย ว่าจะสามารถรับมือกับการตั้งครรภ์ได้มากน้อยเพียงไร
อาการหายใจไม่สะดวก วิงเวียน และหน้ามืดเป็นลม
สาเหตุ : คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีอัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น จังหวะการหายใจจะเร็วขึ้นและลึก ขณะเดียวกันมดลูกที่ขยายตัว ตามการเจริญเติบโตของทารกจนเข้าไปเบียดปอด และกระบังลมทำให้ปอดมีพื้นที่สำหรับการขยายตัวน้อยลง มีผลให้รับออกซิเจนได้น้อยตามไปด้วย นอกจากนี้การเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
วิธีการดูแลตัวเอง
• เมื่อคุณแม่รู้สึกหายใจไม่สะดวก ให้นั่งพักและทำสมาธิหายใจเข้า ออก อย่างช้าๆ ถ้ารู้สึกหน้ามืดจะเป็นลมให้นั่ง หรือนอนลง ก้มศีรษะลงระหว่างเข่า เพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนขึ้นไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น
• เดินขึ้นบันไดอย่างช้าๆ
• ขณะเดิน ควรหยุดพักเป็นช่วงๆ
• พยายามอย่าโค้งหรืองอตัว ซึ่งจะทำให้การหายใจไม่สะดวก และควรใช้หมอนหนุนศีรษะ และไหล่ขณะนอน
• รับประทานอาหารว่างบ่อยๆ ในระหว่างวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
• เวลาตื่นนอนในตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากที่นอนอย่างช้าๆ และนั่งที่ขอบเตียงก่อนสักครู่ จึงค่อยลุกขึ้นยืน
• คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรนอนหงาย โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
• คุณแม่ควรเดินไปมาสลับไปด้วย ถ้าต้องยืนเป็นเวลานาน
อาการจุกเสียด
สาเหตุ : คุณแม่ทราบหรือไม่ว่าในช่วงเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ออกมา ทำให้เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อเรียบคลายตัวหย่อนลง รวมทั้งเนื้อเยื่อในบริเวณกระเพาะที่ช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะไหลขึ้นมาที่หลอดอาหาร เมื่อเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อคลายตัว อาจทำให้รู้สึกจุกเสียดขึ้นที่คอ และหลอดอาหาร นอกจากนี้มดลูกที่ขยายตัวขึ้นทุกวัน ยังกดทับกระเพาะ ทำให้อาการเป็นมากขึ้น
วิธีการดูแลตัวเอง
• ทุกครั้งที่คุณแม่รับประทานอาหาร ควรทานอย่างช้าๆ ค่อยๆ เคี้ยว และหมั่นจิบน้ำบ่อยๆ
• หลังรับประทานอาหาร คุณแม่ควรที่จะลุกขึ้นยืน และเดินไป เดินมาอย่างช้า สักประมาณ 5 นาที เพื่อเป็นการย่อยอาหารไปในตัว
• รับประทานอาหารว่างที่ช่วยดูดซึมกรด เช่น ขนมปังกรอบ หรือขนมปังชนิดต่างๆ ก่อนเข้านอน และหลังจากตื่นนอนมาใหม่ๆ
• รับประทานอาหารในปริมาณเล็กน้อย แต่บ่อยครั้ง เน้น ผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใย
• เวลานอน คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนท่านอน ด้วยการใช้หมอนหนุนศีรษะและไหล่ เพื่อให้ส่วนบนของลำตัวยกขึ้น ทำให้นอนสบายขึ้น หายใจก็สะดวกขึ้นด้วย
การตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือต้องกังวลแต่อย่างใด เพียงแต่คุณแม่จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการรับภาระหน้าที่ในการอุ้มท้องตลอดทั้ง 40 สัปดาห์ เพื่อให้เป็นการตั้งครรภ์คุณภาพ มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ ก็จะได้เจริญเติบโต มีพัฒนาการที่ดีตลอดทั้ง 40 สัปดาห์ด้วยเช่นกัน
ทราบหรือไม่ว่าถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดสารอาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายหรือ 3 สุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะมีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารที่ให้โปรตีนสูง ประเภทเนื้อปลา ปลาตัวเล็กตัวน้อย ไข่ และนม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการสร้างน้ำนมที่มีคุณภาพสำหรับลูกน้อยที่กำลังจะเกิดขึ้นมา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)