
© 2017 Copyright - Haijai.com
ระวัง ก่อนเข้าสนามเด็กเล่น
ทำไมเด็กต้อง “เล่น” ??? มีนักปรัชญา นักวิชาการดังๆ มากมายที่ตอบคำถามนี้อย่างมีหลักการ เช่น
... เพื่อระบายพลังที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ (Herbert Spencer นักปรัชญาชาวอังกฤษ)
... เป็นสัญชาตญาณในการเตรียมตัว เพื่อจะได้มีทักษะ เพื่อเตรียมตัวดำรงชีวิตแบบผู้ใหญ่ (Karl Groos นักปรัชญาชาวเยอรมัน)
... เพื่อเด็กจะได้ระบายความรู้สึกคับข้องใจ หรือความรู้สึกอันไม่ดีต่างๆ ออกมาในทางที่สังคมยอมรับ เพื่อช่วยให้พวกเขาชนะความกลัว เช่น กลัวบุคคลหรือสิ่งของต่างๆ ถือได้ว่าเป็นการเยียวยา เพื่อไม่ให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์ (Sigmund Freud ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์)
... การเล่นสัมพันธ์กับการพัฒนาทางด้านสติปัญญา (Jean Piaget เจ้าของทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญา)
เมื่อพูดถึงการเล่นของเด็กๆ ก็ย่อมจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่พูดถึง “ของเล่น” จากทารกน้อยที่เพียงชอบเล่นสำรวจร่างกายเนื้อตัวตนเองในช่วงเดือนแรกๆ กระทั่งวัย 6 เดือนที่กำและถือวัตถุต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าได้ จากนั้นก็จะเริ่มลุยสำรวจทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเริ่มคืบ คลานและเดินได้ เด็กๆ เริ่มเล่นของเล่นอย่างจริงจังเมื่อเข้าสู่วัย 1 ขวบ และเมื่อวัย 2–3 ขวบ ก็จะติดของเล่นเสมือนว่าพวกมันคือเพื่อนผู้มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับตนเอง
ไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบ “ของเล่น” ของเล่นเป็นเช่นเพื่อนมหัศจรรย์ที่พาพวกเขาโบยบินไปสู่โลกอันเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ แต่ของเล่นคือสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ต้องได้รับบาดเจ็บถึงปีละกว่า 70,000 คนต่อปี โดยเกือบครึ่งของการบาดเจ็บที่ต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เกิดจากของเล่นประเภท “เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น” (จากการศึกษาของ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี)
จริงๆ แล้วการที่เด็กๆ ได้เล่นในสนามเด็กเล่น ได้เล่นเครื่องเล่นต่างๆ ในสนาม ก็ล้วนแต่ทำให้พวกเขาร่างกายแข็งแรง เติบโต จิตใจสดชื่นแจ่มใส แถมช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้การเคลื่อนไหว (วิ่ง, กระโดด, ปีนป่าย, ห้อยโหน) แต่ปรากฏว่าเด็กๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามนั้น มีทั้งบาดเจ็บไม่มาก บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต
เครื่องเล่นทั้งหลายในสนามเด็กเล่น ไม่ว่าจะสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด ทั้งในโรงเรียน, หมู่บ้านจัดสรร, สวนสาธารณะ หรือในวัด ก็ล้วนแล้วแต่เคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้วทั้งสิ้น อุบัติเหตุที่เด็กได้รับที่รุนแรงก็คือ พลัดตกแล้วหัวกระแทกพื้นกระทั่งเลือดออกในสมอง, หัวของเด็กไปติดกับช่องหรือรูของเครื่องเล่นต่างๆ เพราะเด็กมุดเข้าไปแล้วดึงไม่ออก และที่เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์อยู่อย่างสม่ำเสมอก็คือ เครื่องเล่นล้มทับเด็กกระทั่งบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่เสียชีวิต
• เครื่องเล่นลูกโลกล้มทับเด็ก...เสียชีวิต! เด็กชาย 6 ขวบ (เรียนชั้นประถม1) หมุนเครื่องเล่นลูกโลกเล่น โดยมีเพื่อนๆ ได้จับเครื่องเล่นดังกล่าวกันคนละมุม แล้วลูกโลกที่หมุนด้วยความเร็วก็เกิดเสียสมดุลเอียงกะเท่เร่และในที่สุดก็ล้มลงมาทับร่างอย่างแรงจนเจ้าหนู 6 ขวบเสียชีวิตคาที่ (กทม.)
• กระดานลื่นน้ำหนัก 100 ก.ก. ล้มทับหัวเด็ก 6 ขวบวัยอนุบาล จนเลือดอาบ กะโหลกแตก อาการสาหัส ครูเวรเห็นรีบนำส่งร.พ. สิ้นใจในเวลาต่อมา (จ.กำแพงเพชร)
จากเหตุร้ายทั้ง 2 ราย (และยังมีอีกหลายราย) เครื่องเล่นเหล่านี้ล้วนไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งสิ้น โดยเฉพาะไม่มีการยึดเครื่องเล่นไว้กับพื้นสนามเลย, ไม่มีการเทปูนยึดฐานไว้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่นี่คือ หัวใจสำคัญ แห่งมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องเล่นทั้งหลายที่จะต้องมีการ จับยึดอย่างมีเสถียรภาพให้มากที่สุด โดยเริ่มจากการติดตั้งที่ต้องมีการฝังฐานรากติดตรึงอย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกคลอน การจับยึดที่มั่นคงแข็งแรงนั้น ยังรวมถึงสภาพของเครื่องเล่นแต่ละชิ้นที่จะต้องไม่โยกเยกคลอนแคลน หรือสนิมเขรอะกระทั่งแม้แต่น็อตแต่ละตัวก็จะต้องไม่หมดสภาพ จุดเชื่อมต่อต่างๆ ก็จะต้องไม่หมิ่นเหม่เหมือนจะหลุดจะร้าวได้ทุกเมื่อ
ก่อนจะอนุญาตให้เด็กเล่น ให้จ้องดูที่พื้นสนาม
เครื่องเล่นที่ติดตั้งอย่างมั่นคง ก็จะต้องอยู่บนพื้นสนามที่ปลอดภัยด้วยนะครับ นั่นหมายถึงพื้นสนามจะต้องมีความหนานุ่ม และควรเป็นพื้นทราย พื้นขี้เลื่อย หรือเป็นยางสังเคราะห์ ไม่ใช่เป็นพื้นแข็งๆ อย่างพื้นซีเมนส์ ยางมะตอย ทรายอัดแข็ง พื้นหญ้า หรือที่พบเห็นอยู่ไม่น้อยก็คือ พื้นที่เกลื่อนไปด้วยก้อนกรวด ก้อนหิน เศษอิฐ เศษปูน (เผลอๆ ก็มีเศษแก้ว เศษตะปูด้วย)
พื้นทรายซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีในการดูดซับพลังงานนั้น ก็จะต้องมีความหนาไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร สำหรับเครื่องเล่นสูงไม่เกิน 1.20 เมตร หากเครื่องเล่นสูงเกินกว่านั้น ความหนาของพื้นทรายก็ไม่ควรน้อยกว่า 30 เซนติเมตร หรือถ้ามีสตางค์เยอะหน่อย แล้วอยากสร้างสนามเด็กเล่นให้ลูกๆ หลานได้เล่นกันเอง หรือเพื่อเป็นสาธารณกุศลให้แก่เด็กๆ ทุกคน ก็น่าจะเลือกทรายที่จะนำมาทำพื้นสนามให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ในสนามเด็กเล่นแต่ละแห่งนั้น มักจะมีเครื่องเล่นหลายชิ้นหลากชนิด จึงต้องให้ความสำคัญกับช่องว่างหรือระยะห่างระหว่างเครื่องเล่นแต่ละชิ้น คนที่มีหน้าที่ติดตั้งเครื่องเล่น จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยต้องกะระยะห่างระหว่างเครื่องเล่นกับพื้นที่ว่างเพื่อให้เด็ก (และผู้ใหญ่) ได้เดินไปมา พื้นที่นั่งพักผ่อนและพื้นที่เผื่อพลัดตก (จะได้ไม่โดนเครื่องเล่นชนกระแทก) โดยเฉพาะพื้นที่เผื่อการตกนั้น ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งเกะกะใดๆ เครื่องเล่นที่มีพื้นยกระดับสูงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.50 เมตร พื้นที่การตกในบริเวณรอบๆ นั้นควรมีราวๆ 1.50 เมตร แต่ถ้าเครื่องเล่นนั้นสูงเกินกว่า 1.5 เมตร พื้นที่การตกควรเป็น 1.80 เมตรโดยรอบ
เมื่อพูดถึงความสูงของเครื่องเล่นกันแล้ว ยังมีเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาเพิ่มอีก เพื่อความปลอดภัยของศีรษะและสมอง นั่นก็คือ เด็กก่อนวัยเรียน (เด็กอนุบาล) ไม่ควรเล่นเครื่องเล่นที่สูงเกิน 1.20 เมตร (วัดจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นนั้นๆ) ส่วนเด็กวัยเรียน (เด็กประถม) ไม่ควรเล่นที่สูงเกิน 1.80 เมตร
นอกจากนั้นเครื่องเล่นสำหรับวัยก่อนเรียน ที่มีความสูงของพื้นยกระดับที่สูงมากกว่า 50 เซนติเมตร หรือเครื่องเล่นสำหรับเด็กวัยเรียนที่มีความสูงมากกว่า 75 เซนติเมตร จะต้องมีราวกันตก หรือผนังกันตก และควรมีการออกแบบอย่างพิถีพิถันของบันได และราวบันไดชนิดต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงระยะก้าว ระยะโหน รวมทั้งการกำมือเพื่อยึดเหนี่ยวของเด็กในวัยต่างๆ
• ช่องว่างของเครื่องเล่นต่างๆ จะต้องมีขนาดน้อยกว่า 9 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้หัวของเด็กลอดเข้าไปได้ หรือมากกว่า 23 เซนติเมตร เพื่อศีรษะที่ลอดเข้าไปและออกมาได้โดยไม่ติดค้าง
• ส่วนการป้องกันเท้าหรือขาเข้าไปติด จะต้องมีช่องว่างไม่เกิน 3 เซนติเมตร และป้องกันนิ้วเข้าไปติด โดยการแหย่หรือลอด จะต้องไม่มีช่องว่างที่อยู่ขนาด 0.5 เซนติเมตร ถึง 1.2 เซนติเมตร
• น็อต-สกรูที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นสนาม จะเป็นระบบกันคลาย ต้องออกแบบให้ซ่อนหัวน็อตหรือปลายตัดหัวมนที่มีส่วนยื่นไม่เกิน 8 มิลลิเมตร
• วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษ และมีสารโลหะหนักเจือปนไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานในของเล่น เครื่องเล่น โดยมากจะมีสีฉูดฉาดแบบการ์ตูนเพื่อดึงดูดใจเด็กๆ แต่หากว่าสีนั้นลอกหลุดร่อน ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะอาจมีสารตะกั่วปนเปื้อน เมื่อลูกไปสัมผัสเข้า พิษสารตะกั่วก็มีโอกาสเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลเสียหายต่อการพัฒนาการทางสมอง
• การตรวจสอบและบำรุงรักษา ให้มีการตรวจสอบสนามเด็กเล่นและอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามทุกวัน และตรวจสอบพร้อมบันทึกเป็นหลักฐานทุก 3 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานที่ที่ทำการติดตั้ง และมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญทางวิศวกรรมตรวจสอบและบันทึกเป็นหลักฐานทุก 1 ปี ควรเป็นระเบียบปฏิบัติในส่วนการปกครองท้องถิ่น
• ผู้ดูแลเด็ก ต้องมีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการเล่น การใช้เครื่องเล่น การระวังการบาดเจ็บและการปฐมพยาบาล
• จัดหลักสูตรการอบรม ต้องมีการจัดหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่ติดตั้งและตรวจสอบสนามเด็กเล่น และผู้ดูแลเด็กในขณะเล่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แม้ 3 หัวข้อข้างต้นจะดูเหมือนเรื่องเพ้อฝันที่แทบไม่เคยเป็นจริง (โดยเฉพาะในไทยแลนด์แดนสไมล์ของเรา) แต่หากไม่มีการเริ่มต้น ความสำเร็จใดๆ ก็จะไม่เกิด จงเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีเถิด มิฉะนั้นเด็กไทยก็ยังคงเจ็บและตายซ้ำๆ ซากๆ อยู่เช่นนี้ตลอดไป
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)