© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : อาการแพ้ยากับอาการเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาที่รับประทานเข้าไปแตกต่างกันอย่างไร และมีวิธีแยกแยะได้อย่างไร
A : ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาก่อนคะ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction, ADR ) หมายถึง ผลไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดจากการตอบสนองต่อยาเมื่อใช้ยานั้นในขนาดปกติ เพื่อรักษาโรค ซึ่งผลดังกล่าวก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเป็นอันตรายที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ อาการข้างเคียงของยาหรือ ADR Type A เป็นอาการแสดงที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานยา พบได้บ่อยถึงร้อยละ 80 มีกลไกการเกิดที่ชัดเจน อาการที่เกิดส่วนใหญ่มีความรุนแรงต่ำ และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต หากลดขนาดยาลงจะช่วยบรรเทาอาการได้ ตัวอย่างของอาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อาการปากแห้ง คอแห้งจากกการรับประทานยาแก้แพ้ อาการง่วงนอนจากยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องระวังไม่ควรขับขี่รถยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือ อาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย จากการรับประทานยาฆ่าเชื้อบางตัว เป็นต้น ส่วนอาการแพ้ยาหรือ ADR Type B คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากขนาดยาปกติ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือเกิดกับใคร พบได้น้อยกว่าในชนิดแรก แต่หากเกิดขึ้นจะมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ มีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 1: 10000 ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัด แต่กลไกการเกิดเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ตัวอย่างอาการแพ้ยาที่เห็นชัด เช่นมีผื่นคันตามร่างกาย แขน ขา บางรายมีอาการรุนแรงเช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ผื่นลมพิษ ความดันต่ำจนอาจเกิดการช็อคได้ อย่างไรก็ตามการประเมินอาการแพ้ยานั้นมีความซับซ้อน เพราะต้องอาศัยความรู้เรื่องเภสัชวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาประกอบกัน หากไม่แน่ใจว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรแน่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้การประเมินอาการดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องนะคะ
ทีมเภสัชกรโรงพยาบาล BNH
(Some images used under license from Shutterstock.com.)