© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาในผู้สูงอายุ หลักการใช้ยาในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุเป็น กลุ่มประชากรที่ใช้ยามากกว่ากลุ่มประชากรวัยอื่น เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีโรคเรื้อรัง ทำให้มีโอกาสรักษากับแพทย์หลายคนและได้รับยาหลายชนิด จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ใช้ยาอย่างน้อย 1 ชนิดต่อสัปดาห์ และจำนวนยาทีใช้สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ปฏิกิริยาระหว่างยา และค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ยาในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามวัย อาทิ การดูดซึมและการกำจัดยาออกจากร่างกายทำได้ลดลง นอกจากนั้นผู้สูงอายุ ซึ่งมีปัญหาด้านสายตา และความจำยังมีความเสี่ยงที่จะใช้ยาผิดได้มากอีกด้วย
กลุ่มยาที่มีความเสี่ยงสูงและควรหลีกเลี่ยงในผู้สูงอายุ
• กลุ่มยานอนหลับและยากล่อมประสาท
• กลุ่มยาต้านซึมเศร้า
• กลุ่มยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
• กลุ่มยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
• กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ
• กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด
• กลุ่มยาแก้อาเจียน
• กลุ่มยาลดแพ้ Anti-histamine
(ข้อมูลจากกลุ่มแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุของเมริกา)
กลุ่มยาที่ใช้บ่อยในผู้สูงอายุ
1.กลุ่มยารักษาโรคประจำตัว อาทิ ยาลดความดันโลหิต
2.กลุ่มยานอนหลับและยาคลายกังวล
3.กลุ่มยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ
4.กลุ่มยาวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร
ในผู้สูงอายุกลุ่มยาที่นิยมใช้มาก คือ กลุ่มยานอนหลับและยาแก้ปวด ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้ไม่ได้รักษาที่สาเหตุของโรค แต่อาจบรรเทาอาการให้ทุเลาลงเป็นครั้งคราว ดังนั้น การใช้ยาต้องทำร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และเกิดอาการปวด ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียง จากการใช้ยาในผู้สูงอายุ
• การได้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันหรือยาตีกัน ซึ่งเกิดจากยาชนิดหนึ่งไปมีผลแทรกแซงยาอีกชนิดหนึ่ง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ถ้าได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดขับปัสสาวะ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้การรักษาโรคเบาหวานไม่ได้ผล หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่เป็นประจำ และชอบรับประทานใบแปะก๊วยเป็นอาหารเสริม จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย
• การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในการออกฤทธิ์และกำจัดยาออกจากร่างกาย
• พฤติกรรมของผู้ป่วยสูงอายุ
*การซื้อยารับประทานเอง ในประเทศไทย การซื้อยาตามร้านขายยาทำได้สะดวก ผู้สูงอายุจำนวนมาก มักซื้อยาชุด หรือยาที่แฝงมาในรูปยาลูกกลอนมารับประทาน เช่น ผู้ที่มีปัญหาปวดตามข้อ โดยมักเข้าใจว่าปลอดภัย เพราะผลิตจากสมุนไพร แต่มักมีการผสมยากลุ่มสเตียรอยด์ จึงส่งผลเสียในระยะยาว เช่น กระดูกพรุน ต่อมหมวกไตฝ่อ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
*ขาดการติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุจำนวนมาก มักไม่ชอบมาพบแพทย์ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ เช่น กลัวรบกวนคนใกล้ชิด กลัวเสียเวลาและค่าใช้จ่าย การคมนาคมไม่สะดวก จึงพบได้บ่อยว่าญาติมาขอรับยาเดิมจากแพทย์ โดยไม่พาผู้ป่วยมาติดตามการรักษากับแพทย์
*การไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยหลายรายมักใช้ยาผิดพลาด เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น
* • การใช้ยายุ่งยาก ผู้ป่วยไม่เข้าใจวิธีการใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น รับประทานวันละหลายครั้ง
* • ผู้ป่วยหยุดยาเองโดยไม่แจ้งแพทย์ เพราะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
* • สายตาไม่ดี หลงลืม ฉลากยาที่เขียนไม่ชัดเจน จึงรับประทานยาผิด
* • ทัศนคติของผู้ป่วยต่อยา เช่น รับประทานยามากๆ จะทำให้ตับและไตวาย จึงหยุดใช้ยาไปเอง หรือบางรายคิดว่าควรเพิ่มปริมาณการใช้ยา เพื่อจะได้หายจากโรคโดยเร็ว
*การเก็บสะสมยา สำหรับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย และมีโรคเรื้อรังมักจะได้รับยาหลายชนิด เมื่อใช้ยาไม่หมดก็จะเก็บสะสมยาไว้ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยอีกครั้ง ก็จะเลือกรับประทานยาเดิมที่เคยรับประทานได้ผล ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ หากยานั้นหมดอายุแล้ว
ผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาได้ง่าย อาทิเช่น
• กลุ่มยาคลายกังวลและยานอนหลับ มักทำให้เกิดอาการมึนงง และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายต้องอาศัยฤทธิ์ยาในการกดประสาททำให้หลับ จึงเกิดภาวะติดยาและทนต่อยา เมื่อใดที่ไม่ได้รับยา จะเกิดอาการอยากยาและพยายามแสวงหายามาใช้ต่อโดยวิธีต่างๆ
• กลุ่มยาลดปวดและอักเสบ (NSAIDs: Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด ไม่ควรใช้ติดต่อกัน โดยไม่จำเป็นเพราะอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารและลดการทำงานของไต
• กลุ่มยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ยาระงับปวดชนิดเสพติด เช่น มอร์ฟีน เพททิดีน ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูงในการระงับอาการปวด แต่ก็มีอันตรายสูง และเสี่ยงที่จะเกิดการติดยาได้ โดยเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะทนต่อยา หรือ ต้องเพิ่มขนาดของยาให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้ผลในการรักษาเท่าเดิม ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาบ่อยขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดยาในที่สุด ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการติดยาได้ภายหลังจากใช้ยาติดต่อกัน โดยผู้ที่ใช้ยาด้วยตนเอง จะมีโอกาสติดยามากกว่าผู้ป่วย ซึ่งได้รับยาเพื่อการรักษาจากแพทย์
• ยากลุ่มอื่นที่พบปัญหาในผู้สูงอายุ อาทิเช่น ยาลดความดันโลหิต ยาต้านซึมเศร้า ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
การป้องกันการเสพติดยา
ในผู้สูงอายุกลุ่มยาที่นิยมใช้มาก คือ กลุ่มยานอนหลับและยาแก้ปวด ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้อาจช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงเป็นครั้งคราว การใช้ยาจึงควรทำร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับและเกิดอาการปวด ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้สูงอายุควรเริ่มใช้ยาขนาดต่ำที่สุด และใช่ยาไม่เกิน 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ และส่งผลให้ติดยาได้ แต่หากใช้ยาติดต่อกันมานาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาปรับลดและหยุดยา
การใช้ยานอนหลับร่วมกับการปฏิบัติตัว เพื่อเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่นอนกลางวัน งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน งดออกกำลังกายเมื่อใกล้ถึงเวลานอน จัดห้องนอนให้โล่ง สะอาด อากาศถ่ายเท เป็นต้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งยาลดลง และในระยะยาวจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถนอนหลับได้ด้วยตนเอง
การใช้ยาแก้ปวดทุกชนิดควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคข้อหรือกระดูกเสื่อม เช่น กระดูกต้นคอหรือกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม และมีอาการปวดอยู่เสมอ ควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวร่วมกับการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การประคบร้อน การฝังเข็ม ทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด เป็นต้น หรือเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขต่อไป
หลักการใช้ยาในผู้สูงอายุ
1.ไม่ซ้อยารับประทานเอง ควรพบแพทย์และเภสัชกร
2.ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ปรึกษาแพทย์ถึงข้อบ่งชี้ในการใช้ยา เพราะยาบางชนิดควรใช้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ แต่บางชนิดจะใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น
3.เมื่อต้องไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล ต้องนำยาทุกชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ไปแสดงแก่แพทย์
4.แจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อมีอาการผิดปกติ เพราะอาจเกิดจากยาที่ใช้อยู่ เช่น ใช้ยาไปแล้วขาบวม ปัสสาวะบ่อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น
5.แจ้งให้ทราบถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยา เพื่อแพทย์จะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม เช่น ให้ยาน้ำแทนยาเม็ด
6.หลังได้รับยาควรตรวจทานยาทุกครั้ง ถ้ามีข้อสงสัยควรสอบถามทันที ได้แก่ ฉลากยา ชื่อผู้ป่วย ชนิดยา วิธีใช้ ข้อควรระวังที่ยังไม่เคยใช้ วันหมดอายุ โดยยึดหลักปฏิบัติในการใช้ยาในผู้สูงอายุ ดังนี้
*ถูกต้องกับคน คือ ตัวผู้ป่วยที่สูงอายุและไม่ควรแลกเปลี่ยนหรือใช้ยาของผู้อื่น
*ถูกชนิดยา ซึ่งจะบ่งบอกถึงสรรพคุณยาในการรักษาโรค
*ถูกขนาดยา เช่น เป็นมิลลิกรัม เม็ด แคปซูล หรือเป็นหยด
*ถูกทาง เช่น ทางปาก ทางผิวหนัง หยอดตา หรือเหน็บทวารหนัก ดังนั้น จำเป็นต้องอ่านฉลากยาอย่างละเอียดทุกครั้ง
*ถูกเวลา เช่น ก่อนอาหารเช้า หลังอาหารหรือให้เมื่อมีอาการและให้วันละกี่ครั้ง เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาตามแต่ละช่วงเวลามีหลักการดังนี้
• การรับประทานยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ถ้าลืมกินยา ในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจำทให้ยาถูกดูดซึมได้ดี
• การรับประทานยาหลังอาหาร โดยให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ประมาณ 15-30 นาที
• การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก
• การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที
7.จัดเตรียมยาให้พร้อมต่อการใช้ เช่น การหักครึ่งเม็ด การกดยาเม็ดออกจากฟอยด์ การจัดยาเป็นเวลา เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยาอย่างถูกต้องครบถ้วน
8.รับประทานยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด กรณีหลงลืมใช้สิ่งช่วยจดจำ เช่น เขียนขนาดและวิธีรับประทานตัวใหญ่ติดบนฉลากยา หรือปฏิทินใช้กล่องใส่ยาชนิดที่รับประทานช่องละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาซ้ำซ้อน อาจใส่กล่องแยกชั้นยา เช่น เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
9.เก็บยาให้ปลอดภัยและเก็บไว้ห่างจากมือเด็ก
10.หากผู้ป่วยสูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลควรหยิบยามาให้รับประทานเองกับมือ วิธีนี้จะปลอดภัยที่สุด
การใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลรักษาผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายที่เสื่อมถอยลงร่วมกับมีโรคร่วมหลายอย่าง การเลือกใช้ยาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลใกล้ชิด หรือบุคลากรทางการแพทย์ ควรให้ความเอาใจใส่ในการใช้ยาของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ส่วนผู้สูงอายุเอง ก็ควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ และควรมีวิธีการช่วยจำเพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวผู้สูงอายุเอง และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)