Haijai.com


ผลข้างเคียงของยานอนหลับภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต


 
เปิดอ่าน 10810

ผลข้างเคียงของยานอนหลับ ภัยร้าย อันตรายถึงชีวิต

 

ขึ้นชื่อว่า “ยานอนหลับ” นั้นย่อมจะมีผลเสียมากกว่าผลดีเสมอ แม้ว่าฤทธิ์ของมันจะทำให้เราสามารถเข้าสู่ห้วงนิทราได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นภัยร้ายต่อร่างกายในระยะยาวโดยที่เราคาดไม่ถึง

 

การกินยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลเสียร้ายแรงที่สุด คือ จะทำให้นอนหลับเองไม่ได้ หรือเป็นอาการดื้อยานั่นเอง และผลข้างเคียงอีกข้อหนึ่งที่เป็นอันตรายและไม่ควรเสี่ยงคือ อาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งถ้าคนไข้ไปถึงจุดนั้นแล้ว หมอจะไม่สามารถรับประกันโปรแกรมการรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้ค่ะ

 

ในทางกลับกัน หมอไม่อยากให้ผู้อ่านกินยานอนหลับจนติดเป็นนิสัย เรามีวิธีรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยวิธีอื่น ที่ดีกว่าและสามารถช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

 

เวลาที่กินยานอนหลับเข้าไป จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาทในสมอง ร่างกายจะจดจำและตอบสนองได้ดี ต่อเมื่อมียาเข้าไปช่วยกระตุ้นเท่านั้น จนร่างกายจดจำวิธีการนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลานอนปกติ ถ้าไม่มียานอนหลับเข้าไปกระตุ้น ก็จะไม่เกิดการตอบสนอง คือ ไม่มีอาการง่วงนอนอีกเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพ

 

ในปัจจุบัน หมอจึงขอยืนยันว่า ยังไม่มีวิธีการใดที่จะมารักษาผลข้างเคียงของการใช้ยานอนหลับให้หายขาดได้

 

วิธีแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ หมอแนะนำว่า ควรเริ่มต้นพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริง และระดับความรุนแรงของอาการ ก่อนที่ผู้อ่านจะเข้าสู่วงจรของการกินยานอนหลับจนถึงขั้นดื้อยาแล้วนั้น ควรใช้วิธีธรรมชาติในการรักษาตัวเองแบบเบื้องต้นเสียก่อนจะดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นภัยร้ายของยานอนหลับ แนะนำให้เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก่อน ดังนี้ค่ะ

 

 

สร้างสิ่งแวดล้อมในการนอน

จัดเตียงนอนที่ดี สร้างสัญญาณให้ร่างกาย

หมอนำนำให้จัดเตียงนอนสำหรับการนอนโดยเฉพาะ เป็นการสร้างสัญญาณให้ร่างกายได้รับรู้ว่า เราไม่ควรทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเด็ดขาด เช่น ไม่ควรกินข้าว ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ หรือทำงานกับโน้ตบุ๊กบนเตียงเด็ดขาด เป็นการสร้างภาวะรบกวนเวลานอนที่ดีของร่างกาย และเพื่อเป็นสัญญาณอัตโนมัติให้ร่างกายได้จดจำว่า เมื่อถึงเวลามาที่เตียงนอน เราต้องนอนหลับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

การสร้างสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ ร่างกายจะจดจำว่าควรหลับพักผ่อนเพียงอย่างเดียว และควรปรับพฤติกรรมการนอน คือ เข้านอนให้ตรงตามเวลานาฬิกาของร่างกาย ไม่ควรงีบหลับระหว่างวัน และควรนอนต่อเมื่อง่วงเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรกดดันตัวเอง เพื่อให้นอนหลับ เพราะจะกลายเป็นความวิตกกังวล และจะยิ่งทำให้การนอนหลับนั้นยากยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

แสง ความืด ช่วยสร้างบรรยากาศได้

ความมืดหรือการที่ไม่มีแสงไฟส่งกระทบสถานที่นอน จนรบกวนสายตาเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ร่างกายทราบอีกเช่นกันว่า เราควรนอนหลับได้แล้ว เมื่อไม่มีแสงไฟมารบกวน ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินออกมาเองตามธรรมชาติ

 

หมอขอเตือนไว้ว่า บางคนที่ชอบนอนเปิดไฟตลอดเวลานั้นไม่ดีต่อร่างกาย เป็นพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าอายุมากขึ้นจะเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากมาก เราเองควรทำให้ร่างกายจดจำว่า เมื่อไม่มีแสงไฟมารบกวน หรือมีเพียงแสงสลัว ระบบของสมองจะสั่งให้หลั่งสารเมลาโทนินออกมาทำงาน ให้เรารู้สึกง่วงนอนทันที ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น จัดห้องใหม่ให้อาการถ่ายเทสะดวก และกำจัดสิ่งรบกวนในบริเวณห้อง เพื่อสร้างบรรยากาศ

 

 

หลีกเลี่ยงโลกโซเชียล

งดกิจกรรมการใช้ Gadget ทั้งหลาย

การสร้างสัญชาตญาณที่ดีให้ร่างกาย เพื่อช่วยในการนอนหลับ คือ ไม่ควรอยู่ในโลกโซเชียลตลอดเวลา เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กทั้งหลาย หรือไม่ควรทำงานบนเตียงนอนเด็ดขาด เพราะจออิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือประเภทนี้จะมีแสงบลูไลท์ (Blue Light) หรือแสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นประมาณ 400-500 นาโนเมตร เป็นความยาวคลื่นที่สั้นที่สุด แต่ให้พลังงานมากที่สุด นอกจากจะมีอยู่ในแสงแดดแล้ว ก็ยังมีอยู่ในสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย ซึ่งเป็นคลื่นความยาวที่เป็นอันตรายต่อสายตา รบกวนการนอน และส่งผลต่อระบบประสาท

 

ร่างกายจึงไม่หลั่งสารเมลาโทนินออกมา หรือผลิตออกมาได้น้อยลงนั่นเอง ผลคือร่งากายจะไม่รู้สึกง่วงนอน หมอจึงไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมที่ใช้ Gadget เหล่านี้บนเตียงนอนเด็ดขาด

 

 

กลิ่นบำบัด (Botanical Therapy)

มีผลการวิจัยจากหลายสถาบันบอกว่า ร่งกายมนุษย์เรามีการตอบสนองได้ดีในการรับกลิ่น ยิ่งในด้านสรีรวิทยานั้น ร่างกายจะตอบสนองได้ดีจากการสูดดมและส่งผลดีทางจิตวิทยาอีกด้วย รวมถึงกลิ่นต่างๆ นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณสมบัติพิเศษ ถ้านำมาใช้จะช่วยให้การนอนหลับง่ายขึ้น

 

กลิ่นบำบัดดีต่อระบบประสาทสัมผัส ปลุกประสาทการรับรู้ของร่างกาย เช่น ในกลุ่ม ลาเวนเดอร์ (Lavender) มะกรูด (Bergamot) แฟรงกินเซนส์ (Frankincense) และเจอเรเนียม (Geranium) ทั้ง 4 กลิ่นนี้มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นสารกาบา (Gaba) ในสมอง และช่วยกระตุ้นเซลล์สมองส่วนใน ทำให้รู้สึกสงบผ่อนคลาย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ เพราะช่วยให้เรารู้สึกง่วงและอยากนอนมากยิ่งขึ้น

 

 

สมุนไพรขวัญใจคนนอนไม่หลับตลอดกาล ใช้เป็นชาชงดื่ม

การดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอนจะช่วยให้ร่งกายรู้สึกอบอุ่น สงบ หมอแนะนำให้ชงชาสมุนไพรดื่มก่อนนอน สมุนไพรหลายชนิดนั้นมีฤทธิ์กล่อมประสาทอย่างอ่อน สามารถผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย ร่งกายจะรู้สึกสงบ เกิดความสมดุล ส่งผลให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

 

หมอแนะนำสมุนไพรในกลุ่มลาเวนเดอร์ กลุ่มคาโมมายล์ และกลุ่มเลมอนบาล์ม โดยสามกลุ่มนี้มีสรรพคุณช่วยให้สมองสงบ และหลั่งสารเมลาโทนินออกมา หรือพืชในแถบตะวันออก กลุ่ม Cat Knit ดอกเสาวรส (Passion Flower) ฮอปฟลาเวอร์ (Hop Flower) พืชจำพวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทอย่างอ่อน ช่วยเรื่องการผ่อนคลายได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ นิยมใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเครียดจนนอนไม่หลับ

 

สรุปได้ว่า การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับนั้น ควรใช้วิธีแก้ไขหลายวิธี และเสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมของร่างกาย และควรลดความตึงเครียดระหว่างวันลงบ้าง ควรปล่อยวางบางเรื่อง หรือคิดในแง่บวกเสมอ เปลี่ยนมุนมองชีวิต มองหาความสุขง่ายๆ รอบตัวเรา

 

ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการเพียงแค่บางช่วงที่มีปัจจัยอื่นมากระทบ และไม่ได้มีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง สามารถดูแลตนเองให้ผ่านพ้นภาวะนี้ได้ด้วยวิธีการเบื้องต้น ที่หมอแนะนำค่ะ

 

 

แต่สำหรับผู้ที่นอนไม่หลับจนถึงขั้นต้องกินยานอนหลับเป็นประจำทุกวันแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อเข้าโปรแกรมรักษาตามลำดับขั้นตอน เพื่อลดระดับยาที่กินจะดีกว่า

 

 

ดร.ณิชมน สมันตรัฐ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)