© 2017 Copyright - Haijai.com
FITNESS ON FARM ฟิตสุขภาพด้วยวิถีเกษตร
เมื่อเอ่ยถึงการออกกำลังกาย ใครๆ ก็นิยมไปฟิตเนสกัน ด้วยเหตุผลว่า มีทั้งอุปกรณ์ เทรนเนอร์ และการให้บริการที่ครบครัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การทำงานในเรือกสวนไร่นา ก็ช่วยให้หุ่นเป๊ะ สุขภาพแข็งแรงได้เช่นกัน
HARD LIFE AS FARMER ทบทวนมุมมองต่อวิถีชีวิตชาวไร่
ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาใช้บริหารประเทศ จากประเทศเกษตรกรรม มุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม การทำงานในเรือกสวนไร่นา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมถูกมองว่าเป็นงานหนัก ทุกครอบครัวต้องการให้บุตรหลานของตนเติบโตมาเป็น “เจ้าคนนายคน” ได้ทำงานในสำนักงานสบายๆ ไม่ต้องแบกหาม ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เช่นคนรุ่นตนเองอีกต่อไป
แท้จริงแล้ว ร่างกายของมนุษย์เรานั้น ได้รับการวิวัฒนาการและสร้างมาให้ใช้เคลื่อนไหวได้ทุกส่วน แต่เมื่อวิถีชีวิตของผู้คน และมุมมองต่อการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนเมืองส่วนใหญ่ต้องนั่งทำงานติดโต๊ะ เฉลี่ย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับอาหารการกินก็ต้องพึ่งพาการผลิตแบบอุตสาหกรรม และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด คนยุคปัจจุบันจึงป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคเบาหวาน กลุ่มโรคมะเร็ง และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทย กับองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ขณะนี้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก ถึงร้อยละ 66 (ราว 36.2 ล้านคนต่อปี) และร้อยละ 73 ของประชากรไทย (ราว 3.1 แสนคนต่อปี)
เมื่อวิถีชีวิตแสนสบาย ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ กลับก่อโรคที่ครองแชมป์สาเหตุคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่าครึ่ง นี่อาจถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่เสียที
BACK TO BASIC LIFE คืนสู่ไร่นา ไฟฟิตด้วยกันดีกว่า
แล้ววิถีชีวิตแบบไหนจะช่วยให้พวกเราห่างไกลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ นอกจากการวิ่งเข้าฟิตเนสแล้ว หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจคือ การทำไร่ทำสวน ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลกหันมาให้ความสนใจการทำสวนทำไร่ว่า ให้ประโยชน์แก่สุขภาพมากมาย ดังนี้
• สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ สหรัฐอเมริการะบุว่า กิจกรรมของคนเมืองส่วนใหญ่ ใช้กับการออกแรงเฉพาะลำตัวช่วงบนและแขน แต่การทำสวนช่วยให้ร่างกายได้ออกแรงทั้งส่วนบน และส่วนล่างไปพร้อมๆ กัน
• การทำสวนถือเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ใช้แรงปานกลาง (Moderate-Intensity Exercise) เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทำสวน โดยใช้เวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 30-40 นาทีต่อครั้ง และทำเป็นประจำทุกวัน
• คนที่ทำสวนมีแนวโน้มที่จะทำกิจกรรมต่อเนื่องจาก 30 นาที ไปเป็น 50 นาที ได้มากกว่าคนที่เลือกออกกำลังกายด้วยการเดิน (เฉลี่ยใช้เวลา 20 นาที) และการปั่นจักรยาน (เฉลี่ยใช้เวลา 30 นาที)
• งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Preventive Medicine ระบุว่า การทำสวนช่วยเพิ่มความถี่ในการทำกิจกรรมออกกำลังกายได้ถึงร้อยละ 48 ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด ลดมวลไขมันสะสมในร่างกาย ลดน้ำหนัก เพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย และเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ
• งานวิจัยของ New Brunswick Community Gardening and Nutrition Program ระบุว่า คนที่ทำสวนเป็นประจำ มีระดับคอเลสเตอรอล ไขมันเลวและความดันโลหิตลดลง
• งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Education and Behavior ระบุว่า คนที่ทำสวนเป็นประจำกินผักผลไม้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 32 และทำให้คนในครอบครัวหันมาสนใจกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ได้อย่างมีนัยสำคัญ
UPDATE INFO ข้อมูลล่าสุดจากนักวิจัย
มีโอกาสได้พบกับ ดอกเตอร์กิอาโคโม ซาเนลโล นักวิจัยสัญชาติอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้เป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี และการจัดการประจำศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ซึ่งมีผลงานล่าสุด คือ การศึกษากิจกรรมทางกาย การใช้พลังงาน และการใช้เวลาในวิถีชีวิตของเกษตรกรในเขตชนบท ทางตอนเหนือของประเทศกานา ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยอาจารย์กิอาโคโมอธิบายว่า
“เป้าหมายของงานวิจัย คือ เราต้องการทราบว่า กิจกรรมเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ของงประชาชนในแถบชนบทของประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องใช้พลังงานมากน้อยเพียงใด เพื่อนำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงการให้คำแนะนำด้านโภชนาการ เพราะประชาชนในกลุ่มนี้มักมีปัญหาทุพโภชนาการ”
“วิธีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานมี 2 วิธี คือ ใช้แบบสอบถามถึงกิจกรรม และระยะเวลาที่ทำในแต่ละวัน กับการใช้อุปกรณ์เก็บข้อมูลติดไว้กับตัวกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นเอาข้อมูลทั้งสองส่วนมาเทียบกัน จะได้เป็นตารางกิจกรรมและพลังงานที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม”
อาจารย์กิอาโมชี้ให้เห็นว่า อุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลในงานวิจัยครั้งนี้ มีลักษระคล้ายกับอุปกรณ์ที่สวมไว้ที่ข้อมือ เพื่อนับก้าวเดิน นับจังหวะการเต้นของหัวใจ และคำนวณพลังงานที่ใช้ออกไป แต่มีจุดเด่นคือ สามารถคำนวณการใช้พลังงานได้แม่นยำ เพราะมีการคำนวณโดยใช้การวัดแบบ 3 แกน ที่วัด ได้ทั้งอัตราการเคลื่อนที่ แรงที่ใช้ และระยะเวลา ขณะที่อุปกรณ์สวมข้อมือทั่วไปจะได้ผลการคำนวณการใช้พลังงานแบบประมาณการเท่านั้น
อาจารย์กิอาโคโมอธิบายถึงผลการวิจัยว่า
“เราพบว่า ในวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรม มีการแบ่งงานระหว่าง ผู้หญิงกับผู้ชายที่ชัดเจน งานที่ใช้แรงมาก เช่น การถางหญ้าและกำจัดวัชพืช การไถพรวนดิน การหาบและรดน้ำ ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นคนทำ ขณะที่ผู้หญิงจะทำงานเบากว่า เช่น การเพาะและย้ายต้นกล้า แม้จะเป็นกิจกรรมเดียวกัน เช่น การไถพรวนดินก็ใช้แรงน้อยกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงกลับมีกิจกรรมต่อเนื่องมากกว่าผู้ชาย เพราะนอกจากทำไร่ทำสวนแล้ว พวกเธอมีภาระงานบ้าน ซึ่งต้องทำทั้งก่อนออกจากบ้าน และตอนที่กลับเข้าบ้านด้วย”
กิจกรรมในฟาร์มมีการใช้พลังงานต่อชั่วโมง ดังนี้
กิจกรรม |
กิโลแคลอรี / ชั่วโมง |
ไถพรวนดิน |
146 |
ถางหญ้าและกำจัดวัชพืช |
121 |
เพาะและย้ายต้นกล้า |
110 |
นำพืชผลไปขาย |
101 |
เฉลี่ยพลังงานที่เกษตรกร แต่ละคนใช้ตลอดทั้งวัน ประมาณ 2,900 กิโลแคลอรี |
ข้อมูลจาก Physical Activities, Energy Expenditure and Time-Use in Agricultural and Rural Livelihood
กิจกรรมในฟาร์มมีการใช้พลังงานต่อชั่วโมง ดังนี้
กิจกรรม |
กิโลแคลอรี / ชั่วโมง |
งานนั่งโต๊ะและใช้คอมพิวเตอร์ |
82 – 106 |
ประชุมงาน |
90 |
ขับรถยนต์ |
110 |
เฉลี่ยพลังงานที่คนเมืองแต่ละคนใช้ตลอดทั้งวัน ประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี |
ข้อมูลจาก Harvard Medical School : Calories Burned in 30 Minutes for People of 3 Different Weights
ศิริกร โพธิจักร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)