© 2017 Copyright - Haijai.com
ถั่วลันเตา กล้วยดิบ แหล่งแป้งต้านมะเร็ง
คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา (St. Theresa International College) อธิบายไว้ในวารสาร วิทยาศาสตร์บูรพา ว่า แป้งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ แป้งที่ถูกย่อยได้เร็ว (Rapidly Digestible Starch) และแป้งที่ถูกย่อยได้ช้า (Slowly Digestible Starch)
แป้งส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมผ่านลำไส้เล็ก แต่มีแป้งส่วนน้อยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เรียกว่า แป้งต้านทานการย่อย (Resistant Starch) ซึ่งสามารถทนต่อการย่อย โดยเอนไซม์ในกระเพาะอาหารและไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก แต่สามารถผ่านเข้าไปสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดกระบวนการหมักโดยจุลินทรีย์ที่ลำไส้ใหญ่ โดยพบว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย ในการเป็นแหล่งอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งมีผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ใหญ่
วารสาร Current Opinion in Gastroenterology พบว่า แป้งต้านทานการย่อย (Resistant Starch) มีส่วนช่วยร่างกายต่อต้านมะเร็งลำไส้ผ่านกลไกต่างๆ รวมถึงลดการอักเสบและฆ่าเซลล์ที่อยู่ในระยะก่อนกลายเป็นมะเร็ง (Pre-cancerous) โดยพบว่า หนูทดลองที่กินแป้งต้านทานการย่อยมีจำนวนและขนาดของแผล ที่มีโอกาสพัฒนาเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนเซลล์ที่ช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดร.จานีน ฮิกกินส์ (Janine Higgins) จากคณะแพทย์ศาสตร์ วิทยาลัยการแพทย์โคโลราโด (The University of Colorado School of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่มเติมว่า แป้งต้านทานการย่อยนี้รวมอยู่ในองค์ประกอบของแป้งส่วนใหญ่ โดยพบในกล้วยดิบ ถั่วลั่นเตา ถั่วฝักยาว ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง พร้อมแนะนำว่าควรกินสดหรือปรุงด้วยความร้อนต่ำจะดีที่สุด เพราะหากปรุงด้วยความร้อนสูง อาจทำให้แป้งต้านทานการย่อยสลายหายไป
How to choose
กล้วยมีคาร์โบไฮเดรตสูง อุดมด้วยฟรักโทส กลูโคสและซูโครส ควรเลือกที่ก้านหวีมีขนาดใหญ่ และผลเป็นสีเหลืองทั่ว หากเริ่มมีจุดสีน้ำตาลประปรายแสดงว่าสุกได้ที่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)