
© 2017 Copyright - Haijai.com
ขิง พริก เพิ่มพลังต้านมะเร็ง
ขิงมีสารจินเจอรอล (Gingerol) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ทั้งยับยั้งการขยายขนาดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
พิสูจน์โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการคัดเลือกหนูทดลองที่มีร่างกายแข็งแรง มาฉีดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่เข้าไปในร่างกาย
หนูทดลองกลุ่มแรกที่ได้รับเซลล์มะเร็ง ได้รับการฉีดสารจินเจอรอล ซึ่งสกัดจากขิงปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มไม่ได้รับสารสกัดหรือยาต้านเซลล์มะเร็ง
ผ่านไป 15 วัน เกิดก้อนมะเร็งในร่างกายหนูทดลองทั้ง 2 กลุ่ม โดยพบก้อนมะเร็ง 4 ก้อนในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารจินเจอรอล ส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดหรือยาใดๆ พบก้อนมะเร็งมากถึง 13 ก้อน
ยิ่งไปกว่านั้น หากจับขิงคู่กับพริก ประสิทธิภาพการต้านมะเร็งยิ่งเพิ่มขึ้น
โดยล่าสุด งานวิจัยจากวารสาร Agricultural and Food Chemistry ทำการแบ่งหนูทดลองที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินสารแคปไซซินจากพริก กลุ่มที่สองให้กินสารจินเจอรอลจากขิง (6-Gingerol) กลุ่มสุดท้ายให้กินทั้งสารแคปไซซิน และสารจินเจอรอลจากขิงร่วมกัน
ผลปรากฏว่า สารแคปไซซินจากพริกไม่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งปอด หนูที่กินสารแคปไซซินจากพริก จึงเป็นโรคมะเร็งปอดทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่กินสารจินเจอรอลจากขิง พบว่า ครึ่งหนึ่งไม่เป็นโรคมะเร็งปอด ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่กินทั้งสารแคปไซซินจากพริก และสารจินเจอรอลจากขิง พบว่า มีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่รอดพ้นจากโรคมะเร็งปอด
แม้จะจับคู่กันและให้ประสิทธิภาพในการต้นมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่ก็ควรระวังไม่กินมากจนเกินไป เพราะทั้งขิงและพริกต่างมีรสเผ็ดร้อน อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณทางเดินอาหาร ระคายเคืองบริเวณปากและลำคอ
นอกจากนี้ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานียังเตือนว่า ควรระวังการใช้ขิงร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) และยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและหยุดไหลยาก
ส่วนพริกมีรายงานที่ระบุว่า การกินเผ็ดมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)