Haijai.com


5 วิธีสู้โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม


 
เปิดอ่าน 2328

5 วิธีปรับพฤติกรรมสู้โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

 

 

คุณหมอจุฑาไลมีคำแนะนำในการแก้อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมในเบื้องต้นดังนี้

 

1.พักสายตาเป็นระยะ

“หากต้องทำงานหน้าจอต่อเนื่อง หมอแนะนำว่าให้พักด้วยการหลับตาสักครู่หนึ่ง ทุก 20-30 นาที หรือหากนั่งทำงานต่อเนื่อง 1-2 ชั่วโมง ควรลุกไปทำอย่างอื่นสัก 5-10 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ วิธีพักสายตาเช่นนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อตาไม่ล้าเกินไป อีกทั้งยังลดอาการตาแห้งได้อีกด้วย”

 

2.กะพริบตาบ่อยๆ

“การกะพริบตาช่วยให้น้ำตาที่ผลิตจากต่อมน้ำตาใต้เปลือกตามาเคลือบตา ทำให้ดวงตาไม่แห้ง จึงลดอาการฝืดเคืองดวงตาได้”

 

3.จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม

“ไม่ควรเปิดพัดลมเป่าจ่อใบหน้า และดวงตา หรือนั่งใต้แอร์เวลาทำงาน เพราะจะยิ่งทำให้ตาแห้ง อีกทั้งต้องไม่ให้มีแสงจากด้านหลังสะท้อนหน้าจอเข้าดวงตา รวมถึงไม่ทำงานในห้องที่มีแสงไม่เพียงพอค่ะ”

 

4.”น้ำตาเทียม” ตัวช่วยเบื้องต้น

“หากทำทุกอย่งาที่กล่าวมาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้หยอด “น้ำตาเทียม” เพื่อให้ดวงตามีน้ำหล่อลื่น ช่วยให้ไม่เกิดอาการแห้งแสบ หรือเคืองตา”

 

5.หาหมอเพื่อดูอาการ

“ในกรณีที่มีน้ำตาไหลตลอดเวลา หรือมีอาการปวดตามากๆ ควรพักสายตาหรือกินยาแก้ปวด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากพบบ่อยว่า อาการตาแห้งมากเกินไปก่อให้เกิดแผลเล็กๆ ที่กระจกตา ส่งผลให้เกิดอาการแสบเคืองและปวดดวงตา รวมถึงอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้”

 

 

เพื่อให้เข้าใจอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมากขึ้น เรามีตัวอย่างประสบการณ์ของ คุณวันวิสาข์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรมของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอป่วยเป็นโรคนี้

 

 

“เป็นคนสายตาสั้นและมีสายตาเอียงร่วมด้วย แต่เมื่อก่อนไม่ชอบใส่แว่นทำงาน รู้สึกไม่เคยชินและมักมีอาการมึนหัว จึงตัดความรำคาญด้วยการไม่ใส่เสียเลย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานที่บ้าน ก็มักเปิดพัดลมจ่อหน้าเป็นประจำ ต่อมาเริ่มมีอาการแสบเคืองตา บางช่วงก็มีน้ำตาไหลเป็นประจำ บ่อยครั้งที่เคืองมากๆ ก็จะเผลอขยี้ตาแรงๆ ทำให้ตายิ่งแสบเคืองมากขึ้น

 

 

“เมื่อไปพบจักษุแพทย์ คุณหมอบอกว่าอาการเคืองตาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากตาแห้ง หมอจึงให้น้ำตาเทียมมาหยอดตา และกำชับให้ส่วมแว่นระหว่างทำงาน จึงต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะชิน แต่อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นค่ะ”

(Some images used under license from Shutterstock.com.)