© 2017 Copyright - Haijai.com
4 โรคร้ายจากตับทำงานผิดปกติ
ผู้ป่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ โรคพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า โรคที่เกี่ยวข้องกับตับมีนับร้อยโรค หากแต่ 4 โรคต่อไปนี้เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูง โดยส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราโดยตรง ได้แก่
1.โรคไข้มันพอกตับ
คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายสาเหตุของโรคไขมันพอกตับที่พบในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (Non• alcoholic Fatty Liver Disease: NAFLD) ว่า เกิดจากการกินแป้งและน้ำตาลเกิน ทำให้มีไขมันไตรกลีเซอไรด์เข้าไปสะสมในเซลล์ตับจนคั่งกลายเป็นไขมันพอกตับ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคไขมันพอกตับ ในปัจจุบันมีถึงกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีอาการป่วยในกลุ่มโรคระบบเผาผลาญ ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ป่วยเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวาน
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถนำไขมันไปใช้เป็นพลังงานได้ ไขมันที่ไม่ได้ใช้จะถูกส่งมาเก็บไว้ที่ตับและแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ตับ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในตับได้ในอนาคต
นอกจากนี้ คุณกุลวดี บุณยทรัพยากร หัวหน้าฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์ก็มีปัญหาไขมันพอกตับได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงาน โดยแอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงานถึง 7 แคลอรี ซึ่งมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน การดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีไขมันสะสมในตับได้เช่นกัน
2.โรคตับอักเสบ
คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า โรคตับอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากการมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณตับเพิ่มขึ้น เพื่อนำเม็ดเลือดขาวมารวมตัวจับเชื้อโรคหรือสิ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบ บริเวรดังกล่าวจึงเกิดการบวมแดง ร้อน และเมื่อหาย บริเวณที่อักเสบจะเกิดรอยพังผืดหรือแผลเป้น (Scar) เช่นเดียวกับบาดแผลบริเวณผิวหนังของเรา แต่เนื่องจากในเนื้อตับไม่มีเส้นประสาท ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกเจ็บ และไม่รู้ตัวว่าเกิดภาวะตับอักเสบในร่างกาย
โดยสาเหตุของการเกิดตับอักเสบแบ่งได้เป็น 4 สาเหตุใหญ่ ดังนี้
1.ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
โดยไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้บ่อยมี 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี โดยบางชนิดติดต่อทางเลือด บางชนิดติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในขณะที่บางชนิดติดต่อทางสารคัดหลั่งจากร่างกาย
โดยคุณหมอปิยะวัฒน์ชี้ว่า เชื้อไวรัสอักเสบตัวสำคัยที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบมี 2 ชนิด ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี
“เริ่มต้นจากไวรัสตับอักเสบบี เมื่อก่อนนี้ประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทย มีอัตราการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูกจำนวนมาก แต่หลังจากการพัฒนาวัคซีนชนิดฉีดป้องกันไวรัสตับอักเสบบีให้ทารก การแพร่เชื้อในลักษณะดังกล่าวจึงลดลง มีเพียงผู้ป่วยรายใหม่ที่ป่วยจากการสัมผัสเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้ที่นิยมสักร่างกาย รวมถึงการติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อไวรัส แต่ไม่ติดต่อผ่านการกินอาหารร่วมกัน”
“อีกชนิดที่มีผลให้เกิดอาการตับอักเสบจำนวนมากคือ ไวรัสตับอักเสบซี โดยเมื่อ 3 ปีก่อนมักติดเชื้อจากการรับเลือดที่ไม่ปลอดภัย การเจาะสักตามร่างกาย หรือการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันครับ”
โดยหลังจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้ว บางรายสามารถรักษาจนหายขาดและเกิดภูมิต้านทานไวรัสขึ้นในร่างกาย ทำให้ไม่เกิดภาวะตับอักเสบซ้ำอีก ในขณะที่บางรายไวรัสกับภูมิต้านทานผลัดกันแพ้-ชนะ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการอักเสบ ที่ค่อยๆ กัดกร่อนตับไปเรื่อยๆ
2.การติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า เมื่อร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์สู่ตับ สารเอทานอลในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกกระบวนการทำงานของตับเปลี่ยนให้เป็นสารพิษ ซึ่งทำให้ตับอักเสบ โดยหากตับมีความแข็งแรงจะสามารถขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ แต่หากยังคงมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การทำงานของตับเสียสมดุลจากการอักเสบอย่างต่อเนื่อง
3.มีภาวะไขมันพอกตับสะสม
คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า จำนวนไขมันที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับปริมาณมาก จะกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอักเสบ (Non-alcoholic Steatohepatitis: NASH) ได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากตัวไขมันเอง กระตุ้นให้กระบวนการไซโตโครม (Cytochrome) ของเซลล์ตับเกิดการอักเสบ หรือจากสารพิษที่เข้าไปทำปฏิกิริยากับไขมันในตับจนเกิดการอักเสบ คล้ายกับการอักเสบในกลุ่มผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
4.สาเหตุอื่นๆ
หนังสือรู้ทันโรคตับ 3 ของคุณหมอปิยะวัฒน์กล่าวถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ เช่น การกินยาสมุนไพร ยาปฏิชีวนะ อาหารเสริมบางชนิด การกินพืชมีพิษ และการรับสารพิษทางปาก
นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคและความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะตับขาดเลือด โรคภูมิต้านทานทำลายตับ โรคหลอดเลือดในและนอกตับอุดตัน หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคธาตุเหล็กหรือธาตุทองแดงสะสมในตับ เป้นต้น
ซึ่งสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เกิดโรคตับอักเสบใน 2 ลักษณะ คือ
• ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute Hepatitis) คือ ตับมีการอักเสบและหายได้เองภายในระยะเวลา 6 เดือน
• ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic Hepatitis) คือ การที่ตับอักเสบอย่างต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือน โดยคุณหมอปิยะวัฒน์กล่าวว่า ในบ้านเราพบ 4 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ คือ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี การติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเป็นโรคไขมันพอกตับ
ที่สำคัญ โรคตับอักเสบสามารถพัฒนาไปสู่โรคที่ร้ายแรงกว่าได้อีกด้วย
3.โรคตับแข็ง
คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า โรคตับแข็งเป็นผลมาจากโรคตับอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นติดต่อกันนานจนพังผืดในตับมีวงใหญ่ขึ้น ในขณะที่เนื้อตับส่วนที่ยังดีก็พยายามงอกขึ้นทดแทนเช่นกัน ส่งผลให้ตับมีลักษระตะปุ่มตะป่ำ และหากยังมีการอักเสบอย่างต่อเนื่อง นานวันเข้าปริมาณเนื้อตับที่ดีจะลดลงจนไม่สามารถทำงานได้
“ภาวะตับแข็งมักเริ่มแสดงอาการให้เห็น เมื่อเนื้อตับถูกทำลายไป ประมาณร้อยละ 50-60 ครับ ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นก็ใช้เวลา 10-20 ปี”
• ขาและท้องบวม เกิดจากตับทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถผลิตโปรตีนแอลบูมิน ซึ่งมีหน้าที่กักน้ำไว้ในหลอดเลือด น้ำจึงไหลไปสะสมที่ท้องและขา
• อาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากตับที่มีพังผืดมาก จะเบียดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลผ่านตับไม่สะดวก เลือดจึงไหลย้อนเข้าไปในกระเพาะอาหาร เกิดเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร และเส้นเลือดแตก
• มีอาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน แต่ง่วงซึมและหลับในเวลากลางวัน รวมถึงมีภาวะหลงลืม และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งเกิดจากตับไม่สามารถกำจัดแอมโมเนีย ซึ่งเป็นของเสียจากการย่อยสลายโปรตีนได้ ทำให้แอมโมเนียยังคงไหลเวียนอยู่ในระบบเลือดและขึ้นสู่สมอง โดยเมื่อตับแข็งมากเข้า ผู้ป่วยจะสับสน หมดสติ และเสียชีวิตได้
แต่ข้อมูลจากหนังสือรู้ทันโรคตับ 3 ของคุณหมอปิยะวัฒน์ ยืนยันว่า พังผืดในตับสามารถลดจำนวนลงและหายได้ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาและการดูแลไม่ให้ตับเกิดการอักเสบซ้ำๆ อีก
4.มะเร็งตับ
โดยข้อมูลจากหนังสือ The Definitive Guide of Cancer ของ ดร.ลิส อัลชูเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เนเชอโรพาธิคและคณะ กล่าวว่า โรคมะเร็งตับส่วนใหญ่ในปัจจุบันมันพัฒนามาจากโรคตับแข็ง ที่กระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์ตับที่ผิดปกติ และลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็ง สอดคล้องกับคำอธิบายของคุณหมอปิยะวัฒน์ ซึ่งกล่าวถึงการเกิดโรคมะเร็งตับว่า
“เมื่อตับอักเสบเรื้อรังจนเกิดภาวะตับแข็ง เนื้อตับส่วนที่ยังงอกได้ ก็จะพยายามงอกทดแทน จนอาจถึงจุดที่เนื้อเยื่อเติบโตไม่หยุด และพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งตับแบบปฐมภูมิ (Hepatocellular Carcinoma)”
“นอกจากภาวะตับแข็งที่พัฒนาไปเป็นมะเร็งตับแล้ว ในกรณีของไวรัสตับอักเสบบีที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกบางราย ไวรัสอาจเข้าไปกระตุ้นยีนในระดับโครโมโซม ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับโดยไม่ต้องมีอาการตับอักเสบ หรือตับแข็งก่อนก็เป็นได้”
ขณะที่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งตับอีก ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากอาหาร เช่น แอฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นพิษจากเชื้อราที่มักพบในถั่ว หอม กระเทียม หรือของตากแห้งอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาจากโรคต่างๆ เช่น โรคภูมิต้านทานต่อต้านตับ โรคธาตุเหล็กหรือธาตุทองแดงสะสมในตับ และโรคอื่นๆ แต่คุณหมอปิยะวัฒน์บอกว่า ในบ้านเราพบโรคมะเร็งตับจากสาเหตุเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และการมีไขมันสะสมในตับปริมาณมาก
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อดูแลตับให้ยังแข็งแรงต่อไป รวมถึงเยียวยากรณีที่ตับเริ่มทำงานผิดปกติให้กลับมาทำงานอย่างสมดุลอีกครั้ง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)