© 2017 Copyright - Haijai.com
ตรวจสุขภาพ ส่องความเสี่ยง เลี่ยงโรค
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมยุคปัจจุบัน ความต้องการความคาดหวังในการดูแลสุขภาพจากระบบสาธารณสุขของไทยมีมากขึ้น การเข้าถึงโรงพยาบาลในระบบสาธารณสุข ไม่ว่าของภาครั๙หรือเอกชน สามารถทำได้ง่ายในประเทศไทย ประชาชนต่อคิวรอเข้ารับการรักษาโรค “ที่เกิดขึ้นแล้ว” มาระยะหนึ่งจนแสดงอาการแล้ว การรักษาเช่นนี้คือการรักษาเชิงรับทางการแพทย์ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเริ่มหันมาตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อที่จะได้เริ่มการรักษาได้อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า “การป้องกันโรคทุติยภูมิ”
การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นการตรวจหาโรค หรือความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในระยะอันใกล้ เพื่อที่แพทย์จะได้เริ่มและวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ การตรวจสุขภาพแบบนี้อาจตอบโจทย์สังคมยุคปัจจุบันที่ต้องการความเร่งรีบ เพราะสามารถกำหนดเวลาตรวจได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะในหน่วยงานเอกชน
อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพหรือการ “คัดกรอง” การตรวจพบว่ามีผลที่ไม่น่าเป็นที่พอใจ อาจจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่าเป็นโรคนั้นๆ ยังคงต้องมีการตรวจติดตามเพิ่มเติมอีก ในทางกลับกันการได้ผลการตรวจที่ดี ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกตรวจจะ “ปราศจากโรค” และละเลยการดูแลสุขภาพจนถึงคิวตรวจครั้งต่อไป ในการตรวจสุขภาพนั้น โรงพยาบาลหลายแห่งจะให้บริการดังนี้
• การตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ เป็นกาตรวจการทำงานทุกระบบคร่าวๆ อาจจะเน้นการตรวจระบบเฉพาะ เช่น การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยสูตินรีแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพคเกจของการตรวจ
• การตรวจเลือด โดยขั้นพื้นฐานจะประกอบไปด้วยการดูคุณภาพของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ค่าโปรตีนเพื่อดูการทำงานของไต เกลือแร่ในเลือด ตรวจดูค่าการทำงานของตับ อาจมีไปจนถึงตรวจระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ ระดับกรดยูริค และสารบ่งชี้มะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพคเกจของการตรวจ
• การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ เพื่อหาโปรตีนไข่ขาวที่รั่วมาในปัสสาวะ และเม็ดเลือดในอุจจาระ เพื่อหาภาวะเบาหวานลงไต และสัญญาณของมะเร็งในลำไส้ตามลำดับ
• การตรวจทางรังสี ขั้นพื้นฐานก็จะเป็นการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูสมรรถภาพปอดและหัวใจโดยคร่าวๆ นอกจากนี้ยังมีการอัลตราซาวด์ช่องท้อง เอกซเรย์และอัลตราซาวน์เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพคเกจของการตรวจ
• การตรวจอื่นๆ ที่จำเพาะ ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมคือการตรวจหลายๆ อย่างเพื่อดูสมรรถภาพของหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพาน การตรวจดูการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หรือตรวจดูความหนาแน่ของมวลกระดูก
จากข้อมูลข้างต้นผู้อ่านอาจจะได้ภาพรวมของการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้สามารถพิจารณาถึงความจำเป็นเหมาะสม ของความสำคัญของแต่ละอย่างได้ สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ที่ต้องการตรวจสุขภาพ อาจจะเลือกแพคเกจขั้นพื้นฐานที่สุดก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ยังน้อยอยู่สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา แนะนำให้เลือกแพคเกจจัดเต็มสักครั้ง โดยเฉพาะในการตรวจครั้งแรก เช่น ถ้าผู้ชาย 35 ปี สูบบุหรี่ อาจจะเลือกแพคเกจแบบที่มีการตรวจสมรรถภาพของหัวใจด้วย สำหรับผู้หญิงแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมอย่างใกล้ชิด เพราะว่าตรวจคัดกรองได้ง่าย แต่ถ้าเป็นแล้วรักษาไม่ง่าย (ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งด้วยนะครับ)
สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการป้องกันแบบทุติยภูมิ คือค้นหาให้เร็วและหยุดการดำเนินโรค แต่ผมยังคงเชื่อในพุทธปรัชญาว่า “อโรคยา ปรมาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ หรือการป้องกันแบบปฐมภูมิ เช่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมก่อโรค เช่น โรคเบาหวานจากอาหารหวาน โรคหัวใจจากสุราและบุหรี่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามฤดู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง รวมถึงการเสริมความรู้เกี่ยวกับตัวโรคต่างๆ เอง
นพ.กรวีร์ ตั้งเอกชัย
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)