Haijai.com


ผื่นมีกี่ชนิดมีผื่นอะไรบ้าง


 
เปิดอ่าน 74507

จับสัญญาณผื่นคันอันตราย

 

 

ผื่น อาการทางผิวหนังที่หลายๆ คนคงจะต้องเคยพบเจอ และมักจะสร้างทั้งความรำคาญและความกังวลใจให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อย เพราะนอกจากจะไม่น่าดูแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างมองเราแปลกๆ อีกด้วย แต่ใช่ว่าผื่นผิวหนังทุกชนิดจะเกิดจากความสกปรก เพราะหลายครั้งที่ผื่นผิวหนังมักจะเกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ ดังนั้น เรามาเปิดโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับผื่นผิวหนังกันดีกว่าค่ะ

 

 

ผื่นผิวหนัง (Rash) เกิดจากความผิดปกติในด้านสีและสัมผัสของผิวหนัง มักจะเกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองที่บริเวณนั้นๆ ผื่นผิวหนังจริงๆ แล้วมีหลากหลายประเภท และเกิดจากหลายโรค ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหรือความผิดปกติของผิวหนังเพียงอย่างเดียว

 

 

ผื่นที่พบบ่อย

 

ผื่นผิวหนังมีมากมายหลายสิบประเภท แต่ที่พบบ่อยมักจะหนีไม่พ้น 2-3 ประเภทนี้ นั่นก็คือ...

 

1.ผื่นแดงนูน (Maculopapular rash) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในบรรดาผื่นทั้งหมด มักมีลักษระเป็นสีแดง ชมพู หรืออาจจะออกม่วง ขนาดมีทั้งใหญ่และเล็ก เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าบริเวณที่มีอาการนั้นนูนกว่าบริเวณโดยรอบ อาจมีอาการคันร่วมด้วย ผื่นชนิดนี้เกิดจากหลายสาเหตุ โดยมากมักเกิดจากอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการแพ้โดยตรง จากสารก่ออาการแพ้ที่มาสัมผัสผิว หรือการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการกินสารก่อภูมิแพ้เข้าไป อาทิ แพ้อาหารทะเล แพ้ยา เป็นต้น

 

 

2.ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema dermatitis, Atopic dermatitis) ผื่นชนิดนี้อาจมีลักษระแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในรูปแบบของผื่นแดง มักขึ้นที่ผิวหนังบริเวณด้านนอกของข้อพับ เช่น บริเวณหัวเข่าหรือข้อศอก แต่ก็อาจพบที่อื่นได้เช่นกัน เช่น ลำตัว ลำคอ หรือศีรษะ ผื่นชนิดนี้มักจะมีขุยยาวเหมือนผิวแห้งลอก และมักมีอาการคัน ผื่นชนิดนี้ไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่สัมพันธ์กับความเครียดหรือการพักผ่อนน้อย มีบ้างกลุ่มที่เกิดจากอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังได้เช่นกัน

 

 

3.ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) แตกต่างจากผื่น 2 ชนิดที่กล่าวมาตรงที่ ผื่นชนิดนี้มักจะขึ้นเฉพาะที่ เป็นแค่บริเวณที่สัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ในขณะที่ผื่นอีก 2 ชนิดที่กล่าวมามักขึ้นได้ทั่วตัว ผื่นชนิดนี้มีอาการแสดงได้หลากหลายตั้งแต่เป็นผื่นแดงนูนธรรมดา ไปจนถึงมีตุ่มน้ำใส หรือมีหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผื่นแบบนี้เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้

 

 

ผื่นแบบไหนต้องไปพบแพทย์

 

ผื่นทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งในผื่นหลายสิบชนิด ที่สามารถเกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่เราจะทราบได้อย่างไร ว่าผื่นแบบไหนที่ควรจะต้องไปพบแพทย์

 

ผื่นที่มีตุ่มสีดำคล้ำคล้ายเลือดเก่า อาจพบร่วมกับอาการที่ผิวหนังบริเวณโดยรอบบวมแดงมากขึ้น และมีอาการปวด นี่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในเนื้อเยื่อชั้นลึก หรือแม้กระทั่งอาการแพ้อย่างรุนแรง

 

 

ผื่นที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับยาหรือสารที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น ในกรณีนี้อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยการแพ้ยา เพื่อระมัดระวังในการให้ยาในครั้งต่อๆ ไป

 

 

ผื่นที่มีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ อาการหอบหายใจ เสียงวี้ด หน้ามืด ใจสั่น ท้องเสีย และเกิดหลังจากได้รับสารกระตุ้นภูมิแพ้เข้าไป อาการเหล่านี้เป็นอาการแสดงของอาการแพ้อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

 

ผื่นร่วมกับอาการไข้ มักเป็นอาการของไข้ออกผื่น พบมากโดยเฉพาะในเด็ก

 

 

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดผื่นคัน

 

สำหรับผื่นโดยทั่วไปมักจะไม่มีอันตรายร้ายแรง หรือถึงแก่ชีวิต หากแต่สร้างความรำคาญและทำให้ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว วันนี้ผู้เขียนมีหลักการดูแลตัวเองเมื่อเกิดผื่นคันมาฝากค่ะ

 

หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดมากเกินไป ไม่ใช่ผื่นทุกชนิดจะเกิดจากความสกปรก ตรงกันข้าม... มีผื่นแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เกิดจากความสกปรก ผื่นส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกราะป้องกันของผิวหนังอ่อนแอลง การใช้สารทำความสะอาดที่รุนแรง รวมถึงการทำความสะอาดบ่อยครั้งเกินไป จะทำให้น้ำมันที่ผิวสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกราะป้องกันถูกชะล้างไป ทำให้ผิวบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนมากขึ้น

 

 

ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้สบู่อ่อนทำความสะอาดผิว ทาครีมหรือโลชั่น หากผิวได้รับการระคายเคืองอย่างมาก อาจเลือกใช้น้ำมันมะกอกเพื่อจำกัดปริมาณสารเคมีที่จะต้องสัมผัสผิวลง เพื่อลดความเสี่ยงตอ่การเกิดการแพ้เพิ่มเติม

 

 

หลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดผื่น ไม่ว่าจะเป็นสารก่อการระคายเคืองที่ผิวหนังโดยตรง เช่น น้ำหอม โลชั่น หรือสารเคมีต่างๆ หรือการกินสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เช่น อาหารทะเล เป็นต้น

 

 

งดการเกาและการขูดขีดผิวหนังบริเวณนั้นๆ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ผิวที่เกิดผื่นเป็นผิวที่บอบบางและอ่อนแอเป็นพิเศษ การแกะเกาหรือขูดขีดนอกจากจะมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผื่นลามแล้ว ยังเป็นการทำลายเกราะป้องกันผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในบริเวณนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย

 

 

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Some images used under license from Shutterstock.com.)