Haijai.com


แม่ตั้งครรภ์อ้วนกระทบถึงลูกในท้อง


 
เปิดอ่าน 4307

แม่อ้วนกระทบถึงลูก

 

 

ลูกที่เกิดจากแม่ที่อ้วนมีโอกาสเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้มากกว่าแม่ที่ไม่อ้วน เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของอวัยวะเพศ แม่ยิ่งอ้วนมากเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันนี้ มีคนอ้วนเพิ่มขึ้นมาก โดยมีคนอ้วนมาก (severely obese) เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิม 50 ล้านคนเป็น 100 ล้านคน ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากปี ค.ศ.2000 และถ้าแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป 1 ใน 5 ของผู้หญิงจะเป็นคน “อ้วน” และ 1 ใน 10 จะเป็นคน “อ้วนมาก” เมื่อถึงปี ค.ศ.2025

 

 

คนอ้วนแบ่งตามดัชนีมวลกาย หรือ BMI (BMI = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตรสองครั้ง) ได้เป็น BMI 18.5-24.9 = ปกติ , BMI 25-29.9 = น้ำหนักเกิน , BMI 30-34.9 = อ้วนพอประมาณ , BMI 35-39.9 = อ้วนมาก (severely obese) , BMI มากกว่า 40 = โรคอ้วน (morbidly obese)

 

 

รายงานตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของอังกฤษ นักวิจัยได้ศึกษาความผิดปกติตั้งแต่เกิด โดยใช้ทะเบียนการคลอดบุตร 1.2 ล้านรายในประเทศสวีเดนระหว่างปี 2001-2014 โดยรวบรวมเฉพาะความผิดปกติตั้งแต่เกิดที่ใหญ่ๆ (major congenital malformations) พบว่า

 

 

มีเด็กแรกเกิดประมาณ 43,500 รายมีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ที่พบบ่อยที่สุดคือ หัวใจผิดปกติ ตามมาด้วยความผิดปกติของอวัยวะเพศ แขน ขา ระบบปัสสาวะ ตา ระบบทางเดินอาหาร ปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติของระบบประสารทสมองและไขสันหลัง

 

 

โดยพบว่าในแม่ที่น้ำหนักปกติหรือต่ำกว่าปกติ มีอัตราทารกมีความผิดปกติตั้งแต่เกิด 3.4% แม่น้ำหนักเกินลูกผิดปกติ 3.5% แม่ที่อ้วนมีอัตราลูกผิดปกติ 3.8% ในขณะที่แม่ที่อ้วนมากมี 4.2% ส่วนคนเป็นโรคอ้วนมีอัตราลูกผิดปกติ 4.7%

 

 

อัตราผิดปกตินี้เกิดขึ้นในเด็กชายมากกว่าหญิง การศึกษานี้ได้แยกแยะเอาปัจจัยเสี่ยงจากภาวะอื่นๆ ออกไปแล้ว เช่น แม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เบาหวาน การใช้ยาต้านการชัก ภาวะขาดวิตามิน ดังนั้นคนที่ตั้งครรภ์จึงควรพยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)