Haijai.com


8 วิธีหยุดปวดข้อจากโรคเอสแอลอี


 
เปิดอ่าน 1391

8 วิธีหยุดปวดข้อจากโรคเอสแอลอี

 

 

อาการปวดข้อและข้ออักเสบเป็นอาการนำและอาการแสดงที่พบได้บ่อย ถึงกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ส่วนมากมักมีอาการอักเสบของข้อร่วมด้วย โดยสังเกตจากมีอาการบวม รู้สึกตึงรอบๆ ข้อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอากาการปวดข้อ แต่ไม่มีการอักเสบก็ได้

 

 

โรคเอสแอลอีมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติตามข้อต่างๆ ได้แก่ ข้อเล็กๆ ที่นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยมีอาการปวดร่วมกับอาการบวมและรู้สึกตึง อาการมักจะแย่ที่สุดในช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังจากที่ไม่ได้ขยับข้อเป็นเวลานาน เนื่องจากมีการสะสมของสารอักเสบรอบๆ ข้อ เมื่อได้ขยับเขยื้อนหรืออาบน้ำอุ่นๆ จะทำให้อาการดีขึ้น

 

 

แม้ว่าอาการบวมอักเสบจะไม่รุนแรง แต่ในบางครั้งผู้ป่วยโรคเอสแอลอีอาจมีอาการปวดมากได้ ซึ่งจะไม่สัมพันธ์กับการอักเสบที่เห็น บางคนปวดมากจนลุกไม่ได้ในตอนเช้า ต้องนอนร้องไห้อยู่บนเตียง นอกจากนี้อาการปวดข้อจากโรคเอสแอลอียังย้ายที่ได้ คือ ปวดจากข้อหนึ่งไปยังอีกข้อหนึ่ง

 

 

วันหนึ่งปวดข้อมือ วันหนึ่งปวดข้อเข่า อีกวันปวดข้อนิ้ว บางครั้งญาติหรือคนที่บ้านไม่เข้าใจ เพราะไม่เห็นการอักเสบหรือบวมแดงบริเวณข้อ จึงอาจเข้าใจคนไข้ผิด เรื่องนี้หมอต้องอธิบายให้คนในครอบครัวเข้าใจ และขอความเห็นใจให้คนไข้อยู่เสมอๆ

 

 

นอกจากอาการปวดบริเวณข้อแล้ว ยังมีอาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดระบม เป็นไข้ตัวรุมๆ รู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วยได้ อาการปวดข้อช่วงเช้านี้จะแตกต่างจากการปวดข้อจากโรคอื่นๆ เช่น โรคข้อเสื่อม ซึ่งมักจะปวดเมื่อมีการใช้งาน และอาการมักดีขึ้นได้พักหรืออยู่นิ่งๆ

 

 

ความแตกต่างระหว่างปวดข้อเอสแอลอีกับปวดข้อรูมาตอยด์

 

อาการปวดข้อจากโรคเอสแอลอีมักเป็นเรื้อรัง มีอาการปวดทั้งสองข้างแบบสมมาตรกัน คือ ทั้งด้านซ้ายและขวา อีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อเรื้อรังคือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 

 

ความแตกต่างระหว่างสองโรคนี้คือ การอักเสบของข้อจากโรคเอสแอลอี มักไม่มีอการรุนแรงเหมือนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และไม่พบการทำลายหรือกัดกร่อนกระดูก หรือทำให้กระดูกผิดรูปอย่างถาวร

 

 

หากอาการปวดข้อรุนแรงมากจนทำให้เกิดความพิการ อาจจะเป็นผู้ป่วยแบบโรคผสมหรือลูกผสม คือ ผสมระหว่างโรคเอสแอลอีกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่เราเรียกว่า โรค Rheupus (rheumatoid artritis + lupus) นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักจะมีอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่น ผมร่วง มีไข้ต่ำๆ มีแผลในปาก ซึ่งมักไม่พบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 

 

ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีที่มีอาการมานาน อาจจะมีอาการข้อผิดรูปแบบกลับเข้าที่ได้ หมายถึงบางครั้งข้อก็ดูเหมือนผิดรูป บางครั้งก็ดูปกติ ซึ่งการผิดรูปนั้นเกิดจากการหย่อนหรือหลวมของเยื่อบุและเอ็นรอบๆ ข้อ โดยเรียกภาวะนี้ว่า “Jaccoud’s Arthropathy” แตกต่างจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มักพบการกัดกร่อนกระดูก ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของโรคเอสแอลอี

 

 

เนื่องจากผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ดังนั้นอายุรแพทย์โรคข้อ หรือที่เราเรียกว่าหมอรูมาโต หรือรูมาโตโลจิสต์ (Rheumatologist) จึงได้มีโอกาสมาดูแลผู้ป่วยโรคเอสแอลอี รวมถึงดูแลการอักเสบในอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย

 

 

8 วิธีเยียวยาเอสแอลอี

 

หากคุณมีอาการข้างต้น และสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคเอสแอลอี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไม่เครียดค่ะ เพราะความเครียดอาจจะทำให้โรคกำเริบได้ แนะนำว่า ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาโปรตีนที่ร่งกายสร้งาขึ้น เพื่อทำลายตนเองเรียกว่า แอนติบอดี ซึ่งหากให้ผลบวกจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเอสแอลอี และการดูแลตนเองที่เหมาะสม ซึ่งเรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝาก

 

1.ป้องกันแสงแดด พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดและการสัมผัสกับแสงแดด โดยทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟมากกว่า 50 หรือสวมหมวกเสื้อแขนยาว เพราะรังสียูวีบีจะทำให้เซลล์ผิวหนังตาย และกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

 

 

2.กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องกินสเตียรอยด์ร่วมด้วย

 

 

3.ควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม ทั้งปริมาณเกลือ พลังงาน หากมีน้ำหนักตัวเกิน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลูปัส มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

 

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

 

5.ป้องกันการติดเชื้อ เช่น กินอาหารปรุงสุกสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องอยู่ในที่แออัดควรสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย

 

 

6.หยุดสูบบุหรี่ มีข้อมูลว่า การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคลูปัสและผู้ป่วยโรคลูปัสที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่โรคจะกำเริบมากกว่าคนที่ไม่สูบ นอกจากนี้บุหรี่ยังทำให้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเอสแอลอีออกฤทธิ์น้อยลงด้วย

 

 

7.พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ประเมินภาวะของโรค และปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม ผู้ป่วยต้องกินยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อย และรุนแรงกว่าคนธรรมดา

 

 

อีกทั้งไม่ควรพบแพทย์เฉพาะเมื่อมีอาการ เนื่องจากการรักษาแต่เริ่มแรกจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาเมื่อโรคเป็นมากแล้ว

 

 

8.การคุมกำเนิด เนื่องจากโรคลูปัส มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำกับผู้ป่วยเรื่องการคุมกำเนิดโดยเฉพาะในช่วงที่โรคกำเริบ ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้ หากโรคสงบนานกว่า 6 เดือน

 

 

ท้ายที่สุดอยากฝากถึงญาติของผู้ป่วยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังและมีความซับซ้อน ผู้ป่วยจึงอาจจะท้อแท้และหมดกำลังใจ ดังนั้นครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมำ ในการสนับสนุนทางด้านจิตใจ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค และให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคต่อไป

 

 

หากทราบดังนี้แล้ว ผู้ป่วยและญาติจะได้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

 

 

พญ.สุมาภา ชัยอำนวย (คุณหมอยุ้ย)

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)