Haijai.com


8 เทคนิคแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม


 
เปิดอ่าน 3367

8 เทคนิคแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

 

โรคสมองเสื่อม (dementia) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัยในผู้สูงอายุ โดยพบความชุกได้ถึงร้อยละ 5-10 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาการของโรคสมองเสื่อม นอกจากปัญหาเรื่องความจำแล้ว ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอาการทางจิตก็เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ญาติพาผู้ป่วยมาพบแพทย์

 

 

ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบได้บ่อย และมักสร้างความยากลำบากในการดูแลให้แก่ญาติมากที่สุด ได้แก่ พฤติกรรมก้าวร้าว อาการหลงผิด และอาการประสาทหลอน โดยที่อาการเหล่านี้พบได้มากถึงร้อยละ 30-40 ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

 

พฤติกรรมก้าวร้าว (aggression) หมายถึง การที่ผู้ป่วยแสดงความหงุดหงิด และมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยอาจแสดงออกด้วยการต่อต้านการดูแลของญาติ ตะโกนเสียงดัง ด่าว่า ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายร่างกายคนอื่น

 

 

อาการหลงผิด (delusion) หมายถึง ความเชื่อแบบผิดๆ ที่เปลี่ยนไม่ได้ และไม่มีเหตุผล โดยอาการหลงผิดที่พบได้บ่อยในโรคสมองเสื่อม ได้แก่ เชื่อว่ามีคนมาขโมยของในบ้าน มีคนจ้องจะทำร้าย หรือเชื่อว่าสามี (ภรรยา) มีชู้ เป็นต้น

 

 

อาการประสาทหลอน (hallucination) หมายถึง การรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่ไม่มีอยู่จริง โดยอาการที่พบบ่อยในโรคสมองเสื่อมได้แก่ การเห็นภาพหลอน เช่น ผู้ป่วยอาจเห็นหมาวิ่งในบ้าน หรือเห็นคนเดินอยู่ในบ้าน ทั้งที่ไม่มีจริง เป็นต้น และหูแว่ว ซึ่งได้แก่การได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง โดยผู้ป่วยอาจบอกว่าได้ยินเสียงคนมาคุยด้วยทั้งๆ ที่ไม่มีใคร เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้จากหลักฐานทางวิชาการและมาตรฐานการรักษาโรคสมองเสื่อมทั่วโลกแนะนำว่า ให้ใช้การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาก่อนสำหรับปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิต ดังนั้น เรามาดูกันครับว่า มีวิธีการอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะป้องกันหรือลดอาการของผู้ป่วย

 

1.เข้าใจธรรมชาติของโรค

 

อันนี้เป็นสิ่งพื้นฐานและสำคัญที่สุด คือ ญาติต้องเข้าใจว่าปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและพบได้บ่อยด้วย จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยจะมีอาการบ้างในบางครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้ มักจะหายไปได้เองในเวลา 4-6 สัปดาห์ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ได้สร้างความลำบากใจให้กับตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติ (เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจบอกว่าเห็นญาติที่เสียไปแล้วมาคุยด้วย โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ได้ตกใจหรือเดือดร้อนอะไร) กรณีนี้อาจจะไม่ต้องมีการรักษาอะไรเป็นพิเศษก็ได้

 

[ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมในสมัยนี้สามารถหาได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต เช่น จากเพจสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เพจของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น]

 

 

2.ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

 

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมมักจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาพฤติกรรมได้มาก โดยประเด็นหลักๆ ที่ต้องดูแล ได้แก่

 

ห้องควรเรียบร้อยไม่รกจนเกินไป เนื่องจากอาการหลงผิดบางอย่างเกิดจากการหาของไม่เจอ ทำให้ผู้ป่วยเชื่อว่ามีคนอื่นมาขโมยไป ดังนั้นยิ่งห้องรก หาของไม่เจอ ผู้ป่วยก็อาจมีอาการลักษณะนี้ได้มาก

 

 

เสียงดังหรือเงียบจนเกินไป เสียงที่ดังเกินไปมักสร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ป่วย (ซึ่งที่จริงคนทั่วไปก็เป็น) ในขณะที่บางครั้งบรรยากาศที่เงียบและนานจนเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่นอนเฉยๆ ในห้องที่เงียบๆ ทั้งวัน ก็อาจทำให้ปัญหาพฤติกรรมเป็นมากขึ้นได้ เพราะอาการทางจิต เช่น หูแว่วมักจะได้ยินชัดเจนขึ้น หรือการนั่งว่างๆ ก็อาจทำให้คนไข้คิดหมกมุ่นเรื่องอาการหลงผิดมากขึ้น ดังนั้น การมีสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น มีคนคุยด้วยเป็นพักๆ เปิดเพลงฟังเบาๆ หรือดูทีวีบ้างจะดีกว่า

 

 

ส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ผู้สูงอายุมักมีปัญหาการเคลื่อนไหว เช่น ลุกยาก เดินลำบาก หรือหกล้มง่าย ดังนั้นสภาพบ้านจึงควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองและเคลื่อนไหวได้เองมากที่สุด เช่น มีราวจับในห้องน้ำ มีที่กันลื่น หรือมีไม้เท้าช่วยในการเดิน เป็นต้น

 

 

3.มีกิจกรรมทำประจำ

 

พบว่าการมีงานอดิเรกหรือออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถลดปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตได้ ดังนั้นจึงควรสนับสนุนหรือให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมทำบ้างในระหว่างวัน ไม่ควรให้นั่งเฉยๆ หรือนอนตลอดวัน โดยกิจกรรมอาจเป็นงานง่ายๆ เช่น กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี เป็นต้น โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าผู้ป่วยทำได้ดีหรือไม่ แต่เน้นที่การได้มีกิจกรรมทำ

 

 

4.หลีกเลี่ยงการโต้เถียง

 

สำหรับอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน หลายครั้งพบว่าปัญหาเกิดจากการโต้เถียงกันของผู้ป่วยกับญาติ มากกว่าตัวอาการเอง เช่น ผู้ป่วยบอกว่าเห็นแมววิ่งในบ้นา ญาติก็พยายามอธิบายว่าไม่มี พอเถียงกันไปมาสุดท้ายผู้ป่วยก็หงุดหงิดและก้าวร้าว ดังนั้นต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของอาการหลงผิด หรือประสาทหลอน ผู้ป่วยจะเชื่อหรือเห็นเหมือนว่ามีอยู่จริง ดังนั้น การพยายามโต้แย้งมักจะไม่ได้ประโยชน์อะไร

 

 

5.ลดปัจจัยกระตุ้น

 

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผู้ดูแลควรพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอาการ และหากพบว่ามีปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจน ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไข เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวในตอนเย็นเกือบทุกวัน ในขณะที่เวลาอื่นๆ ไม่ค่อยมีอาการเท่าไหร่ เมื่อลองวิเคราะห์หาสาเหตุแล้วพบว่า พฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ยอมอาบน้ำในตอนเย็น ซึ่งพอผู้ดูแลบังคับให้อาบน้ำก็จะต่อต้าน และหงุดหงิดมากจนวุ่นวาย และทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ ดังนั้นทางแก้คือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น นั่นคือยอมให้อาบน้ำเฉพาะตอนเช้าก็ได้ ส่วนตอนเย็นอาจจะแค่ล้างหน้าเช็ดตัวนิดหน่อยก็พอ

 

 

6.เทคนิคการหันเหความสนใจ

 

เป็นอีกวิธีที่มีประโยชน์และใช้ได้บ่อย โดยมักใช้ร่วมกับการหลีกเลี่ยงการโต้เถียง หลักการของเทคนิคนี้คือ เวลาที่ผู้ป่วยมีปัญหาพฤติกรรมเกิดขึ้น ให้พยายามหันเหความสนใจผู้ป่วยไปสู่สิ่งอื่น หรือทำอย่างอื่น เช่น ผู้ป่วยพูดซ้ำๆ ว่ามีคนมาขโมยของในบ้น ผู้ดูแลอาจใช้วิธีหันเหความสนใจด้วยการชวนไปเดินเล่นหน้าบ้าน หรือไปกินขนม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยหยุดหมกมุ่นในพฤติกรรมนั้นๆ

 

 

7.ดนตรีบำบัด

 

จากการศึกษาพบว่า การเปิดเพลงที่ผู้ป่วยชอบสามารถช่วยลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว และทำให้ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้นได้ ดังนั้นในเวลาที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำอะไร ญาติอาจเปิดเพลงคลอเบาๆ ไปด้วยได้ ซึ่งอาจจะดีกว่านั่งในห้องเงียบๆ

 

 

8.สุคนธบำบัด

 

ทั้งนี้มีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่พบว่า การบำบัดโดยใช้กลิ่นหอม อาจช่วยลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยได้ โดยกลิ่นที่มีหลักฐานว่าได้ผล ได้แก่ ลาเวนเดอร์ และเลม่อน บาล์ม (lemon balm) โดยทั่วไปการบำบัดด้วยกลิ่นทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การนวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหย หรือการสูดดมจากเครื่องพ่นควัน (หรือหยดลงบนน้ำร้อนก็ได้)

 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นวิธีการรักษาปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิต โดยไม่ต้องใช้ยาที่พบว่ามีหลักฐานทางวิชาการพอสมควรว่าได้ผล ซึ่งแต่ละวิธีถือว่าไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไป ดังนั้นแนวทางการรักษาโรคสมองเสื่อมในเกือบทุกประเทศ จึงแนะนำให้ผู้ดูแลทดลองใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยลดอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากปัญหาพฤติกรรมของผู้ป่วยรุนแรงมาก หรือเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่หาย ก็ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอาการต่อไป และในบางกรณีก็อาจจะจำเป็นต้องใช้ยาในการลดอาการร่วมด้วย

 

 

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)