© 2017 Copyright - Haijai.com
ถูกสุนัขกัดทำอย่างไร?
หนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ที่พวกผมในฐานะแพทย์พบเจอในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเป็นประจำ คือ ผู้ป่วยที่ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ซึ่งผู้ป่วยหลายคนยังไม่มีพื้นฐานการดูแลบาดแผลถูกกัดในเบื้องต้นที่ถูกต้อง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หากดูแลบาดแผลผิดวิธี
หากเรามีความรู้เบื้องต้นในการดูแลบาดแผลที่ถูกสัตว์กัด ก็จะช่วยลดภาวะการติดเชื้อ ทั้งยังลดโอกาสการเกิดโรคที่รุนแรงอย่างโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งนำพาเชื้อโดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดังที่กล่าวมา รวมไปถึงโรคบาดทะยักที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เมื่อมีบาดแผลที่เกิดจากสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงกัด
1.ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดร่วมกับการฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้งทันที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที เพื่อชะล้างเชื้อโรคที่อยู่บริเวณแผลให้ได้มากที่สุด ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล
2.เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Povidone iodine หากไม่มี สามารถใช้ 70% Alcohol เช็ดบาดแผลได้ ไม่ควรปิดปากแผล ยกเว้นแผลมีเลือดออกมาก หรือแผลใหญ่มากให้ปิดด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด และไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที หรือเร็วที่สุด หากมีประวัติหรือสมุดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนบาดทะยัก ให้นำมาโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง เพื่อใช้ประเมินการรักษาและประกอบการพิจารณาการเข้ารับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนบาดทะยักต่อไป
3.ภายหลังเข้ารับการรักษาให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด มาตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดแผลติดเชื้อ และลดโอกาสการเกิดโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้แล้วครับ
ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ อย่าลืมนำความรู้ที่ได้จากบทความนี้ไปแนะนำให้คนอื่นๆ ได้ทราบกันด้วยนะครับ เพียงเท่านี้เราก็มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้อื่นแล้วครับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติม ได้จากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทุกเมื่อนะครับ
นพ.วุฒิชัย แซ่เฉิน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)