© 2017 Copyright - Haijai.com
มาช่วยกันดูแลผู้ป่วยชักเกร็งด้วยกันเถอะ
ภาวะชักเกร็ง ถือเป็นอาการฉุกเฉินวิกฤติ ซึ่งควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อย ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ หรือเดินเล่นอยู่ในห้าง ระหว่างทางคุณอาจพบผู้ป่วยที่มีอาการชักเกร็งได้ แต่คุณอาจไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร
หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนจะสามารถดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วยชักเกร็งเบื้องต้นได้อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือ การตั้งสติและอย่าเพิ่งเอาอะไรใส่ไปในปากผู้ป่วยเชียวนะครับ (อันนี้พบได้บ่อยตามละคร ฮ่าๆๆ) ... อยากรู้กันแล้วใช้ไหมครับว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มไปพร้อมๆ กันเลยครับ
เมื่อมีการชักเกิดขึ้น เราควรตั้งสติ เป้าหมายหลัก คือ การป้องกันการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นขณะชัก ซึ่งมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ครับ
1.พยายามไม่ให้ผู้ป่วยล้มลง จัดให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้นในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่มีวัตถุหรือสิ่งของแหลมคมที่ผู้ป่วยอาจไปกระทบกระแทกได้ขณะชัก
2.จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง เพื่อป้องกันทางเดินหายใจอุดกั้น และป้องกันการสำลักอาหารลงปอด
3.ไม่ควรใส่สิ่งของใดๆ เข้าไปในปาก เพราะอาจทำให้สำลักและอุดกั้นทางเดินหายใจ (การใส่สิ่งของเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น อาจทำให้เกิดอันตรายและผลเสียตามมามากกว่าเดิม) จัดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวมๆ โดยเฉพาะบริเวณลำคอไม่ควรรัดมากเกินไป เช็ดน้ำลายหรือสิ่งที่อาจอุดกั้นการหายใจออก เช่น ฟันปลอม หรือเศษอาหาร
4.สุดท้าย อยู่กับผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดชัก รู้สึกตัว หรือจนกว่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยเหลือ
ลักษณะการชักและระยะเวลาจะช่วยสนับสนุนการวิจัยโรค ถ้าเป็นไปได้ หมอฝากช่วยอัดวิดีโอระหว่างชักเก็บไว้ด้วยนะครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่หมออยากแนะนำคือ การโทรติดต่อสายด่วน 1669 เรียกรถพยาบาล เพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ และสามารถขอคำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย (สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง รวมถึงอาการฉุกเฉินอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจผิดปกติ แขนขาอ่อนแรงก็สามารถโทรได้ทันทีเลยนะครับ) เพียงเท่านี้เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมของเราได้ง่ายๆ ในไม่กี่นาทีเลยครับ
นพ.พิภู ถาวรชีวิน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)