
© 2017 Copyright - Haijai.com
การดูแลผู้ป่วยแขนขาหักเบื้องต้น
หากบังเอิญไปเจอคนได้รับอุบัติเหตุ แล้วสงสัยว่าเขาหรือเธอคนนั้นอาจจะมีกระดูกแขน หรือขาหัก เราควรจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ก่อนที่ทีมแพทย์จะเข้ามาดูแลผู้ประสบอุบัติเหตุและหากรุนแรงกว่านั้น เกิดมีอวัยวะขาดด้วย จะดูแลส่วนที่ขาดได้อย่างไรบ้าง
จะรู้ได้อย่างไรว่ากระดูกหัก: การวินิจฉัยตั้งแต่แรกเห็นเลยอาจทำไม่ได้ 100% แต่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวด บวมรุนแรงบริเวณที่ประสบอุบัติเหตุ การขยับอาจทำให้ปวดมากขึ้นได้ หรือขยับไม่ได้เลย อาจมีแขนหรือขาผิดรูปให้เห็น และอาจมีกระดูกทิ่มทะลุผิวหนังออกมาได้
การดูแลเบื้องต้น: หากไม่มีอาการบาดเจ็บอื่นที่ต้องดูแลก่อน ก็มาดูแลแขนหรือขาที่หักได้ การดามกระดูกจะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติมจากการขยับเขยื้อนได้ โดยหาอุปกรณ์ อาจจะเป็นแผ่นไม้ กระดาษลูกฟูก หรือพลาสติก มาเป็นแนวในการดามกระดูก จากนั้นใช้เทป เชือก หรือผ้า มัดวให้มั่นคง ระวังอย่าให้แน่นเกินไป เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ กรณีที่มีกระดูกผิดรูปแต่ท่าไม่มีความรู้ในการจัดแนวกระดูกก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะหากทำไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้ จากนั้นรีบน้ำผู้ป่วยไปที่สถานพยาบาลใกล้ๆ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป
การดูแลอวัยวะที่ขาด: อวัยวะที่ขาดแบ่งออกเป็น ขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง กับ ขาดออกจากกันบางส่วน ซึ่งไม่ว่าจะเหลือส่วนที่ติดกันน้อยแค่ไหนก็ตาม ห้ามตัดให้ขาดออกจากกัน เนื่องจากจะทำให้รักษายากขึ้น ให้นำเชือกหรือผ้ามาพันอวัยวะให้ติดกัน และนำน้ำแข็งใส่ดุงพลาสติกประคบบริเวณที่ขาด จากนั้นรีบไปโรงพยาบาลสำหรับการดูแลส่วนที่ขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิงนั้น ขอยกตัวอย่างที่พบได้บ่อยคือ นิ้วขาด ให้นำนิ้วที่ขาดใส่ถุงพลาสติก หากมีน้ำเกลือ ทางการแพทย์ให้ใส่ลงไปแช่ในถุงกับนิ้ว แล้วปิดปากถุงให้มิดชิด แต่ถ้าไม่มีก็ใส่ถุงเปล่าๆ ไล่อากาศออกให้มากที่สุด แล้วปิดปากถุงให้มิดชิด จากนั้นนำใส่ถุงหรือกระติกใส่น้ำแข็ง นำไปโรงพยาบาล ส่วนตอนิ้วนั้นให้ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดหรือพันที่ปากแผลให้แน่นจนเลือดหยุดไหล
ทั้งหมดนี้เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบคนแขนขาหักและอวัยวะขาดโดยสรุป แต่ในความเป็นจริงในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ภาวะกระดูกหักอาจจะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต การหาอาการบาดเจ็บอื่นๆ ที่ร้ายแรงและต้องการการดูแลที่เร่งด่วนกว่า เช่น ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน การเสียเลือดมาก อาการเหล่านี้จะต้องให้ความสนใจและได้รับการดูแลก่อนภาวะกระดูกหัก เนื่องจากสามารถเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
นพ.วรพงศ์ ผลึกมณฑล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)