© 2017 Copyright - Haijai.com
สูงวัยกับปัญหาข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อเสื่อมบริเวณข้อสะโพกเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยปกติข้อสะโพกที่สมบูรณ์จะมีลักษณะผิวเรียบ แต่เมื่อถูกใช้งานหรือมีอายุมากขึ้นผิวข้อจะเริ่มเสื่อมสภาพ และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อผิดปกติ โดยเกิดความเปลี่ยนแปลง ได้แก่
• ผิวของข้อสะโพกซึ่งกระดูกอ่อนจะเริ่มสึกหรอ และไม่เรียบ ทำให้การเคลื่อนไหวติดขัด
• การรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้บริเวณที่รับน้ำหนักมากมีอาการปวดเสียว
• เกิดการอักเสบภายในข้อทำให้มีการผลิตน้ำในข้อมากขึ้น จึงเกิดอาการบวมและปวด
• กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกมีความแข็งแรงน้อยลง เอ็นยึดข้อหย่อนยานขึ้น ทำให้ข้อหลวม เคลื่อนไหวผิดปกติ และอาการปวดเป็นเพิ่มมากขึ้น
สาเหตุของข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อมที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อสะโพกเสื่อมตามวัย (Osteoarthritis), ข้อสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวกระดูกข้อสะโพก (Avascular Necrosis), โรคข้อสะโพกจากโรครูมาตอยด์ และการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตรียรอยด์ โดยอาการผิดปกติของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมในระยะแรก ได้แก่ อาการปวดร่วมกับมีอาการขัดที่ข้อ ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่วนอาการในระยะเรื้อรังจะเกิดข้อติดและเคลื่อนไหวลำบากจนกระทั่งไม่สามารถขยับ
การดูแลรักษาเบื้องต้น
ผู้ป่วยควรงดเว้นกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อ รวมทั้งพักการใช้งานร่วมกับการกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และควรไปพบแพทย์ถ้ามีอาการข้อบวมมาก มีข้อติดหรือผิดรูป หรืออาการปวดไม่บรรเทาลง หรือเป็นมากขึ้น
วิธีชะลอข้อสะโพกเสื่อม
• หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำลายข้อ เช่น การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ คุกเข่า หรือนั่งขัดสมาธิเป็นระยะนานๆ และการขึ้นหรือลงบันไดบ่อยๆ
• ในกรณีผู้สูงอายุควรลดระยะทางการเดิน ไม่นั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดียวเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน
• ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักตัวลง เพื่อลดการแบกรับน้ำหนักของข้อ
• ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อสะโพก
เสริมสร้างคอลลาเจนเพื่อรักษาข้อสะโพกเสื่อม
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัยของผิวหนัง โดยจะอยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ช่วยทำให้ผิวหนังเรียบตึง นอกจากนี้แล้วยังมีคอลลาเจนอีกชนิดที่พบได้ในกระดูกอ่อนทั่วร่างกาย รวมถึงที่ข้อต่อสะโพกด้วยที่เรียกว่า คอลลาเจน ชนิดที่ 2 (Type II Collagen) ซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทกรวมถึงให้ความแข็งแรงแก่ข้อต่อในขณะที่มีการเคลื่อนไหว โดยคอลลาเจนชนิดนี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น รวมไปถึงจากการใช้ข้ออย่างไม่เหมาะสม
ดังนั้น การได้รับคอลลาเจนที่จำเป็นสำหรับการสร้างเสริมกระดูกอ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยชะลอความเสื่อมก่อนวัยอันควร หรือบรรเทาอาการปวดได้ จากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นคอลลาเจนที่ยังคงโครงสร้างที่สมบูรณ์ (Undenatured) สามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ของส่วนประกอบที่อยู่ในข้อ โดยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์เซลล์ใหม่และช่วยเพิ่มระดับกรดไฮยาลูโรนิค ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ จึงช่วยลดอาการปวดและทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ขนาดโมเลกุลของคอลลาเจนชนิดนี้เล็กลง (Hydrolyzed Collagen) จึงมีคุณสมบัติถูกดูดซึมได้ง่ายขึ้น
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)