© 2017 Copyright - Haijai.com
แม่จ๋า กีฬาไม่เห็นสนุก
ขณะที่คุณกำลังหากีฬาที่เหมาะสมให้กับลูก คุณก็อาจจะพบว่าเจ้าตัวเล็กไม่อยากเล่นกีฬาเอาเสียเลย เด็กๆ ส่วนหนึ่งไม่ชอบเล่นกีฬาอย่างเป็นทางการ เพราะหนูน้อยเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการเป็นส่วนหนึ่งของทีม หนูน้อยอาจรู้สึกว่าไม่สนุก ไม่เข้าใจกติกา หรือเพื่อนๆ หัวเราะเยาะเมื่อทำพลาด ประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในวิชาพละที่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม คุณสามารถดูแลความรู้สึกของลูกได้ค่ะ
ก่อนการเล่นกีฬาแต่ละครั้ง คุณอาจถามความคิดเห็นของลูกก่อนว่า “ลูกต้องการจะลองเล่นกีฬานั้นไหม” และเมื่อเล่นแล้วก็ถามความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร สนุกหรือไม่ เป็นต้น โดยไม่เจาะจงอยู่ที่ ลูกเล่นได้ดีแค่ไหน หรือใครเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักคือ
• ตั้งความหวังให้อยู่บนความเป็นจริง เช่น หากลูกของคุณวิ่งช้า ก็ไม่ควรคาดหวังให้ลูกวิ่งได้เป็นที่หนึ่ง
• ทำให้ลูกรู้สึกว่ากิจกรรมต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสนุก
• ต้องแน่ใจว่าขณะเล่นกีฬานั้น เจ้าตัวเล็กก็ได้เข้าสังคมกับเพื่อนๆ ด้วย
• สอนให้ลูกเข้าใจว่าการชนะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของเกมส์กีฬา
• อย่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ
• ให้กำลังใจไม่ว่าลูกจะแพ้หรือชนะ
• ดูแลเรื่องโภชนาการของลูกให้ครบถ้วน
กีฬา สำหรับเด็กไม่ชอบกีฬา
กระนั้นก็ตาม หนูน้อยบางคนก็ยังรู้สึกไม่ดีต่อการเล่นกีฬาอยู่ดี แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเด็กๆ ที่ไม่ชอบเล่นกีฬา จะออกกำลังกายไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามีกีฬาจำนวนมากที่สามารถเล่นคนเดียวได้ และไม่ต้องแข่งขันกับใคร รวมทั้งยังมีกิจกรรมอีกมาก ที่ไม่ใช่กีฬา แต่ก็มีค่าเท่าๆ กับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น
• เล่นในสนามเด็กเล่น
• กระโดดไปรอบๆ บ้าน
• พาสุนัขไปเดินเล่น
• ช่วยคุณแม่ทำความสะอาดบ้าน
• รดน้ำต้นไม้
• ช่วยคุณพ่อล้างรถ
นอกจากนี้ หากคุณจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ และการเล่นเกมของลูก คุณก็จะพบว่า เด็กๆ จะกลายเป็นหนูน้อยที่แอคทีฟขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ
Sport Safety Guide
จะเล่นกีฬาทั้งที ก็ควรมีความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายและการบาดเจ็บอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อที่ว่าหนูน้อยจะได้สนุก สุขภาพดี และไม่มีบาดแผลค่ะ
Head or Eye Injury การบาดเจ็บที่ศรีษะหรือดวงตา อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ในกรณีที่เจ้าตัวน้อยชอบเล่นปีนป่ายโลดโผน จนศรีษะไปโขกเข้ากับของแข็ง หรือกระทั่งอาจเกิดจากการโดนลูกบอลกระแทกเข้าอย่างจัง ซึ่งในบางครั้งการบาดเจ็บที่ศรีษะก็อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บต่อดวงตาได้ด้วย
สิ่งที่ควรทำ หลังจากเกิดอุบัติเหตุ หากพบว่าลูกดูมึนๆ งงๆ พูดได้ไม่ชัดเหมือนเดิม หรือมีอาการปวดที่คอหรือท้ายทอย นั่นอาจหมายความว่าศรีษะของลูกได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง ดังนั้นคุณจึงควรรีบโทรแจ้งรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนไหวลูกเอง แต่หากว่าลูกไม่มีอาการร้ายแรงหลังอุบัติเหตุ สิ่งที่ควรทำคือสังเกตอาการต่อไปอีก 72 ชั่วโมง หากพบว่าเจ้าตัวน้อยปวดหัว เวียนหัว มองเห็นไม่ชัด หรืออาเจียน รวมทั้งหากลูกถูก
กระแทกบริเวณดวงตาโดยตรง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
Wrist Hand & Finger Injury เมื่อสะดุดหรือพลาดพลั้งหกล้ม เจ้าตัวเล็กอาจใช้มือท้าวเพื่อรองรับน้ำหนักตัว ซึ่งอาจทำให้มือ ข้อมือ หรือนิ้ว ได้รับบาดเจ็บได้
สิ่งที่ควรทำ หากว่ามือหรือนิ้วมือของลูก บิดผิดรูปหลังเกิดอุบัติเหตุ หรือหากอาการบวมไม่ทุเลาภายใน 24 ชั่วโมง คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ โดยเฉพาะ กรณีที่เจ้าตัวเล็กได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือ คุณต้องระมัดระวัง และสังเกตว่ามีกระดูกหักหรือไม่ เพื่อไม่ให้ลูกเคลื่อนไหวข้อมือก่อนไปพบแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการหนักมากขึ้น
Bruise Cut or Burn อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดอาการฟกช้ำ หรือแผลแตก เกิดขึ้นได้บ่อย ไม่เลือกสถานที่ โดยเฉพาะในการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย
สิ่งที่ควรทำ เมื่อได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลแตก หรือฟกช้ำ ควรทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาด หากว่าแผลแตกลึกมาก ควรพาลูกไปพบแพทย์ ภายใน 6-12 ชั่วโมง และต้องระวังเป็นพิเศษหากแผลแตกนั้นอยู่ใกล้บริเวณข้อต่อ เพราะอาจติดเชื้อได้โดยง่าย สำหรับแผลฟกช้ำ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดย ใช้น้ำแข็งประคบประมาณ 20-30 นาที
Ankle Injury การบาดเจ็บที่ข้อเท้าเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เด็กๆ วิ่งเล่น แล้วก้าวพลาด หรือสะดุดหกล้ม ข้อเท้าพลิก เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เมื่อเจ้าตัวเล็กวิ่งหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ควรทำ หลังอุบัติเหตุ หากข้อเท้าของลูกมีอาการเจ็บแต่ไม่บวม คุณอาจประคบด้วยน้ำแข็ง และพันหลวมๆ ด้วยผ้ายืดสำหรับพยุงข้อเท้า หากว่ามีอาการบวมและปวดมาก เมื่อยืน หรือเดิน อาจต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเอ๊กซเรย์
พัก ยก กด เย็น : เพื่อรักษาบาดแผล
เมื่อลูกได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งเล่น หรือออกกำลัง ลองใช้วิธีการ “พัก ยก กด เย็น” เพื่อบรรเทาการฟกช้ำ บวม ปวด เคล็ดขัดยอก
พัก บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเคลื่อนไหวบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง หากลูกได้รับบาดเจ็บที่ขา ก็ควรงดการเดินโดยสิ้นเชิง
ยก บริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือดได้ดี ซึ่งจะทำให้อาการบวมลดลงได้ คุณควรยกบริเวณที่ฟกช้ำให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจภายใน 24 ชั่วโมงหลังอุบัติเหตุ
กด หรือพยุงบริเวณที่ฟกช้ำ ด้วยผ้ายืดที่ใช้ในการประคองกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรพันแน่นเกิดไป เจ้าตัวเล็กไม่ควรรู้สึกชาหรือรู้สึกอึดอัดหลังจากพันผ้าแล้ว
เย็น ประคบบริเวณที่ฟกช้ำด้วยน้ำแข็งประมาณ 20-30 นาที ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาการบวมกำเริบ
เพื่อความปลอดภัยของลูกคุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ
Before the Game |
During the Game |
After the Game |
ก่อนที่ลูกของคุณจะเริ่มเล่นกีฬา คุณควรแน่ใจว่าได้เด็กๆ ในกลุ่มที่เล่นนั้นมีทักษะด้านกีฬาอยู่ในระดับเดียวกัน และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยควรมีพร้อม รวมถึงอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย และหากลูกเล่นกีฬากลางแจ้ง ควรทาครีมกันแดดให้ลูกด้วย |
ระหว่างการแข่งขัน หรือการเล่นเกม คอยสังเกตว่าลูกเหนื่อย หอบหรือไม่ และควรเรียกให้ลูกมานั่งพักเป็นระยะ และสอนลูกเรื่องการเล่นอย่างปลอดภัย รวมทั้งควรวอร์มร่างกายก่อนทุกครั้ง ดื่มน้ำมากๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลัง |
หลังจากจบเกมหรือการออกกำลัง ควรให้ร่างกายของลูกค่อยๆ ปรับสภาพ ด้วยการยืดแขน ขา เพื่อคลายเส้น มื้ออาหารหลังจากนั้น จัดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสมดุลระหว่างคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หากมีแผลฟกช้ำควรประคบด้วยความเย็นทันที |
(Some images used under license from Shutterstock.com.)