© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำไมลูกเราถึงพูดช้า
“คุณหมอคะ ลูกชายอายุเกือบ 2 ขวบแล้ว แต่ยังไม่ยอมพูดเลยค่ะ ดิฉันไม่ได้เลี้ยงเอง แต่ให้ คุณตาคุณยายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด แต่กำลังจะ พาลูกมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ค่ะ คุณหมอ คิดว่าดิฉันควรจะพาลูกไปหาหมอไหมคะ” ใครมีปัญหาคลับคล้ายคลับคลาแบบ คุณแม่ท่านนี้บ้าง ให้ยกมือขึ้นค่ะ
Problem
เมื่อลูกน้อยอายุย่างเข้าขวบปีที่ 2 แล้วแต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะพูดได้ หรือพูดคำที่มีความหมาย 2 พยางค์ไม่ได้เลย หรือพูดได้แค่คำศัพท์เดียว หรือสื่อสารกับคนอื่นๆ ไม่ได้ หากลูกน้อยของคุณมีอาการแบบใดแบบหนึ่งแล้วล่ะก็ นั่นแสดงว่าลูกของคุณมีพัฒนาการการพูดผิดปกติอย่างแน่นอน อันที่จริงไม่ต้องรอจนลูกอายุ 2 ขวบหรอกค่ะ เพราะหากลูกอายุ 12 เดือนแล้วยังพูดได้แต่เสียงสระ ไม่มีเสียงพยัญชนะ เช่น แอ้ (แม่) อ้อ (พ่อ) หรืออายุได้ 15 เดือน แต่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำง่ายๆ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย หรืออายุครบ 18 เดือนแล้วยังไม่สามารถพูดคำที่มีพยางค์เดียว เช่น จ๋า หม่ำ ฯลฯ ได้น้อยกว่า 10 คำ คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ได้เลยค่ะ เพราะนั่นหมายความว่าลูกน้อยเข้าข่ายเป็นเด็กพูดช้าแล้วล่ะค่ะ สาเหตุที่อาจทำให้ลูกเป็นเด็กพูดช้ามีดังนี้
1.พูดช้าเพราะความผิดปกติของร่างกาย เช่น การบกพร่องทางการได้ยิน หรืออวัยวะทางการพูดผิดปกติ
2.พูดช้าเพราะมีพัฒนาการทุกๆ ด้านล่าช้าไป พร้อมๆ กัน หรือมีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย
3.พูดช้าเพราะภาวะออทิสติก เด็กกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในเรื่องของการใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งการพูดหรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดอยู่แล้ว ส่งผลให้มีปัญหาทางด้าน สังคมด้วยเช่นกัน
4.พูดช้าเพราะขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกแล้วปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ไม่ได้สื่อสารโต้ตอบกับใคร หรือเปิดทีวีทิ้งไว้เพื่อให้เป็น เพื่อนกับลูก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการสนทนา ทำให้พัฒนาการด้าน ภาษาของลูกหยุดชะงัก และทำให้ลูกเป็นเด็กพูดช้าในที่สุดค่ะ
Solution
หลังจากทราบสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้าแล้ว หากสาเหตุนั้นเกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ทันที แต่หากสาเหตุนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่เอง เราก็ต้องมาปรับปรุงการเลี้ยงดูกันแล้วล่ะค่ะ โดยให้เริ่มจากการปิดทีวีในบ้าน แล้วชวนลูกพูดคุยให้มากขึ้น คอยกระตุ้นถามคำถามที่ลูกสามารถตอบได้ ในขณะเดียวกันหากลูกมี คำถามมาคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรตอบคำถามแบบปลายปิด หรือ ตอบคำเดียวจบ แต่ควรใส่รายละเอียดให้มากขึ้น เช่น “ดอกกุหลาบสีแดง มีหนามด้วยนะ” แทนที่จะตอบแค่ว่า “กุหลาบ” เพราะลูกจะไม่ได้พัฒนาอะไรเลย
ในขณะที่คุณชวนลูกคุยนั้นสิ่งที่ พึงระลึกไว้เสมอก็คือ ให้ระดับใบหน้าของคุณกับลูกอยู่ในระดับเท่ากัน เพื่อที่เวลาคุณพูดลูกก็จะได้เห็นการขยับปากของคุณด้วย และคุณควรพูดด้วยน้ำเสียงดังฟังชัด แต่ไม่ควรเสียงดังมากเกินไป และพูดช้าๆ แบบชัดถ้อยชัดคำ แต่ก็ไม่ควรจะช้าจนเกินไปเช่นกัน ที่สำคัญหากคุณชวนลูกคุยในเรื่องที่เขาสนใจอยู่ เขาก็จะให้ความร่วมมือมากขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงมักจะมีพัฒนาการการพูดเร็ว และพูดมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งหากคุณลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเองแล้วลูกยังพูดไม่ได้ ควรปรึกษากุมารแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)