
© 2017 Copyright - Haijai.com
เด็กเด็กจ๋ามาเล่นกีฬากันเถอะ
หากถามเด็กๆ ทุกวันนี้ว่า พวกเขาทำอะไรในเวลาว่าง คำตอบที่ได้ ก็มักจะหนีไม่พ้น ดูโทรทัศน์ เล่นวีดีโอเกมส์ คอมพิวเตอร์ บางคนที่คุณพ่อคุณแม่เคร่งคัดหน่อย ก็อาจจะตอบว่าไปเรียนพิเศษ น้อยคนนักที่จะตอบว่าไปเล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย
“เล่นฟุตบอลครับ” เสียงของเด็กชายคนหนึ่งลอยมาแต่ไกล ทำให้เราเริ่มมีความหวังว่าเด็กๆ สมัยนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเหมือนกัน แต่ก่อนจะถามอะไรต่อ เสียงเดิมก็เจื้อยแจ้วต่อมาว่า “เล่นด้วยกันไหมครับ แต่ผมเลือกทีมก่อนนะ” เอ๊ะ! ยังไง เมื่อหันไป จึงพบว่าหนูน้อยร่างตุ้ยนุ้ยกับกำลังเล่นวีดีโอเกมฟุตบอลอย่างเมามันส์ หาใช่การออกไปเล่นฟุตบอลจริงๆ ไม่
หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าปัญหาสุขภาพของเด็กไทยอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤตในสักวันหนึ่งยิ่งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเด็กอายุ 6-11 ปี ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 36 ก็ยิ่งน่ากังวลว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะอยู่วางใจได้อย่างไร เรามาหาวิธีชวนเด็กๆ เล่นกีฬากันดีกว่าค่ะ
เล่นกีฬาดีอย่างไร
ใครๆ ก็คงรู้ว่าคุณหนูๆ ที่กำลังเจริญเติบโตนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่ดีอย่างรอบด้าน ทั้งร่างกาย สมองและจิตใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เด็กๆ จะได้รับจากการเอาใจใส่เลี้ยงดู อาหารการกิน รวมทั้งการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่จะได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ จะได้รับจากการออกกำลังกายนั้นมีอยู่มากมายทีเดียวค่ะ
• กล้ามเนื้อแข็งแรง การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายสมบูรณ์ขึ้น เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทสั่งการที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
• สูงแน่ๆ แค่ออกกำลัง เพราะเมื่อเด็กๆ ได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย จะส่งผลให้เกิดการสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกเจริญเติบโตแข็งแรง ซึ่งจะส่งผลต่อความสูงของหนูน้อยได้
• หัวใจแข็งแรง เพราะเมื่อออกกำลังหัวใจจะเต้นแรงขึ้น มีการบีบตัวที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือด ทำให้ระบบหัวใจแข็งแรง
• ไม่อ้วน ไม่อ้วน ภาวะเด็กอ้วนที่คุกคามเด็กไทยในขณะนี้จะหมดไป หากคุณหนูๆ ทุกคนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอค่ะ เด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน มักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ โรคระบบกระดูกและข้อ การหลั่งฮอร์โมน เพื่อการเจริญเติบโต (growth hormone) ที่ผิดปกติ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ได้ด้วย ซึ่งการออกกำลังจะช่วยป้องกันภาวะเหล่านี้ได้
• ดีต่อจิตใจ เพราะการออกกำลังกายของเด็กๆ บางครั้งก็คือการกระโดดโลดเต้น หรือตะลุยสนามเด็กเล่นกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ซึ่งจะทำให้คุณหนูๆ สนุกสนาม อารมณ์แจ่มใส ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตด้วย รวมทั้งทำให้รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ส่งผลถึงความเชื่อมั่นในตนเองตามมา
ปลูกฝังนิสัยชอบเล่นกีฬา
อยู่ๆ ดีจะให้คุณหนูตุ้ยนุ้ยที่วันๆ เอาแต่นั่งอยู่หน้าจอทีวี ลุกขึ้นไปวิ่งออกกำลังก็คงจะยากสักหน่อย ดังนั้นการจะปลูกฝังนิสัยรักการออกกำลังให้กับลูกนั้นต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้เลยค่ะ ง่ายๆ ด้วยการค่อยๆ ปรับพฤติกรรม และกิจวัตรประจำวันของเจ้าตัวเล็ก ดังต่อไปนี้
• ลดพฤติกรรมการนั่งๆ นอน ทั้งนี้รวมทั้งการทำกิจกรรมที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน เช่น ดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกม คุณควรจำกัดเวลาให้ลูกว่าไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น
• ส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดิน วิ่งเล่นในสนาม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน หรือหากอยู่บ้าน ก็ชวนลูกมาเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการยกขา ยืดแขน โหนบาร์ ออกกำลัง หรือจะให้ลูกช่วยทำงานบ้านเรียกเหงื่อก็ได้ค่ะ
• สร้างทัศนคติที่ดี เด็กๆ จะสนุกกับการออกกำลังกายก็ต่อเมื่อ เขามีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่ทำค่ะ ดังนั้น หากลูกรับลูกบอลไม่ได้ หรือวิ่งไม่เร็ว คุณก็ไม่ควรตำหนิ ทางที่ดีควรให้กำลังใจและแนะนำ เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกท้อ นอกจากนี้ อย่าลืม เลือกกีฬาที่ลูกสนใจ และสนุกที่ได้เล่นด้วย
เลือกกีฬาให้ถูกใจวัยเด็ก
เพื่อที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกดีกับการได้เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลัง คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกกีฬาให้เหมาะกับหนูน้อยแต่ละวัยด้วยค่ะ
วัยเตาะแตะ – 3 ปี เจ้าตัวเล็กวัยนี้กำลังเริ่มที่จะเรียนรู้การเคลื่อนขั้นพื้นฐานต่างๆ ทั้งการวิ่ง การวิ่งไล่จับ การกระโดด ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับเด็กในวัยนี้ได้แก่
• การเดิน การวิ่งในสวนหรือในสนาม
• เล่นกับเพื่อนๆ ในสนามเด็กเล่น
• เล่นน้ำโดยมีผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด
• คลาสยิมนาสติกสำหรับเด็กโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแล
หนูน้อยวัย 3- 6 ปี กีฬาที่เหมาะสำหรับคุณหนูๆ วัยนี้คือ
• เต้นเข้าจังหวะเพลง
• กระโดดขาเดียว หรือวิ่งไล่จับ
• กระโดดเชือก
• วิ่งไล่จับบอลลูกเล็ก
• ขี่จักรยาน
หลังจากอายุเกิน 6 ปีขึ้นไป ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายและการระมัดระวังตัวเองของเจ้าตัวเล็กจะพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้น เจ้าตัวเล็กอาจพร้อมที่จะเริ่มการเล่นกีฬาเป็นทีมกับเพื่อนๆ
หนูน้อยวัย 7 ปีขึ้นไป
• ฟุตบอล
• ยิมนาสติก
• ว่ายน้ำ
• เทนนิส
• ขี่จักรยาน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายสำหรับเด็กๆ แต่ละวัยเท่านั้นค่ะ แต่ความจริงแล้วยังมีกีฬาอีกหลายประเภท ซึ่งหากคุณหนูๆ ยังไม่สนใจกีฬาเหล่านี้ คุณก็อาจเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองกีฬาชนิดอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่ากีฬาแต่ละชนิดก็ต้องใช้ทักษะที่ต่างกัน และกิจกรรมบางอย่าง เช่น เต้น หรือเชียร์ลีดเดอร์ ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณควรจะแน่ใจด้วยว่าหนูน้อยสนุกกับสิ่งที่คุณจัดสรรให้ และคุณไม่ได้บังคับหรือกดดันลูกจนเกินไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)