Haijai.com


ลดความหวานในผลไม้เชื่อม


 
เปิดอ่าน 3693

ลดความหวานในผลไม้เชื่อม

 

 

ขึ้นชื่อว่าผลไม้เชื่อม หรืออะไรก็ตามที่มีคำว่า “เชื่อม” ต่อท้าย เช่น กล้วยเชื่อม มันเชื่อม ฟักทองเชื่อม แปลว่าสิ่วนั้นต้องเจือด้วยความหวานขนาดหนัก ยิ่งถ้าถึงขั้นตกทรายด้วยแล้ว แปลว่าหวานยกกำลังสอง

 

 

และแม้ว่าคุณผู้อ่านหลายท่านจะรู้ดว่า ความหวานเป็นของต้องห้าม แต่บางครั้งบางคราวก็อยากหยิบใส่ปากบ้างสักคำสองคำ (ยุงเองก็เหมือนกัน...ฮ่าๆ) ในเมื่ออยากกินแต่รู้สึกสำนึกผิด ก็เลยต้องพยายามหาวิธีลดความหวานของสิ่งที่อยากกินเพื่อให้รู้สึกผิดน้อยลง

 

 

วิธีการที่ยุงใช้ลดความหวานของของเชื่อม ทั้งในกับข้าวหรือขนมเป็นเรื่องง่ายๆ จะยากก็ตรงที่ทำอย่างไรให้เมนูนั้นๆ คงความอร่อยไว้ได้เหมือนเดิม

 

 

ยกตัวอย่างเช่น มะตูมเชื่อม ส่วนมากที่เจอมักจะมีน้ำตาลเกาะเยิ้ม หรือไม่ก็เป็นมะตูมเชื่อมที่มีน้ำตาลแห้งแล้ว เกาะอยู่ตามผิดเป็นก้อนๆ เวลาเอามาทำขนมที่ต้องผสมเนื้อมะตูม จึงมักเจอปัญหาคุมความหวานของเนื้อขนมไม่ได้ เพราะมะตูมเชื่อมแต่ละเจ้ามีความหวานแตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง ยุงเลยใช้วิธีต้มในน้ำเดือด

 

 

ถ้ามะตูมที่มีน้ำตาลแห้งๆ เกาะเป็นก้อน ก็ต้องใช้เวลาต้มนานหน่อย แต่ไม่ถึงกับต้มจนเปื่อย เอาแค่น้ำตาลหลุดออกจากผิวมะตูมเป็นใช้ได้ จากนั้นช้อนเนื้อมะตูมขึ้นมาผึ่งให้แห้ง แล้วจึงดำเนินการต่อ จะหั่นเป็นชิ้นผสมกับส่วนผสมอื่นๆ หรือจะเอาไว้กินเป็นขนมก็ได้ แต่อย่าเยอะเกินไปนะคะ เพราะถึงจะต้มแล้ว ความหวานก็ยังเหลืออยู่บ้าง

 

 

ถ้าเนื้อมะตูมเชื่อมมีแค่น้ำเชื่อมติดอยู่ ก็ใช้วิธีลวกในน้ำเดือด ทิ้งไว้สักพัก แล้วช้อนขึ้นผึ่งให้แห้ง ถ้ายังไม่ใช้ก็เก็บใส่กระป๋อง ปิดฝาให้สนิท แช่ไว้ในตู้เย็น...อยู่ได้อีกหลายวันเชียวค่ะ

 

 

หากคุณผู้อ่านสงสัยว่า ความหอมของมะตูมจะหายไปกับน้ำที่ใช้ต้มหรือลวกหรือเปล่านั้น ยุงมีเคล็ดลับมาฝาก เพียงแค่ต้มมะตูมแห้งจนได้น้ำมะตูมออกมา แล้วนำน้ำมะตูมที่ได้มาแทนน้ำเปล่าที่ใช้ลวกมะตูมเชื่อม ผลที่ได้เกินคาดค่ะ เพราะมะตูมที่โดนต้มเอาน้ำตาลออก แค่ลดความหวานลงไป แต่ความหอมยังคงเดิมค่ะ

 

 

วิธีนี้ใช้ได้กับผลไม้เชื่อมชนิดอื่นๆ ด้วย แต่อย่างที่ยุงบอก ถึงแม้จะลดความหวานลงแล้ว แต่ก็อย่าเผลอตักใส่ปากหลายคำเกินไปนะคะ เอาแค่หอมปากหอมคอก็พอ

 

 

ผกา เส็งพานิช (ป้ายุง)

(Some images used under license from Shutterstock.com.)