© 2017 Copyright - Haijai.com
วิธีขจัดทุกข์ของสาวโสด
Q : ดิฉันเป็นสาวโสด อาศัยอยู่กับพี่สาวอีก 2 คนโสดเหมือนกัน และพวกเราต้องดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ ตอนนี้ทั้งดิฉันและพี่ๆ ก็มีอายุพอสมควร (เกินหลักสี่) ทุกคนต่างมีปัญหาสุขภาพ ดิฉันป่วยเป็นมะเร็ง ส่วนพี่คนโตมีอาการเข่าเสื่อม พี่คนรองก็กำลังมีปัยหาวัยทองอย่างรุนแรง เราทุกคนต่างมีความเครียด ไหนจะภาระการทำงาน การดูแลแม่ละปัยหาสุขภาพของตัวเอง อยากขอคำแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตจากคุณหมอค่ะ
A : มนุษย์เราก็ต้องมีเหตุให้เบื่อและเซ็งชีวิตกันบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ทั้งนั้น และคนที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า ตามทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ได้ความคิดนี้หลังจากเดินทางไปสำรวจหมู่เกาะกาลาปากอส ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า
1.สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด (Struggle of Existence)
2.สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่อยู่รอด (Survival the Fittest)
เมื่อเกิดปัญหา เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์ หากต้องการอยู่รอด เราจำเป็นต้องรับมือ ต่อสู้ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เมื่อเกิดความทุกข์ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดอย่างมีความสุขได้ มีคำแนะนำที่ทำได้ง่ายๆ แค่ 4 ข้อเท่านั้น
คำแนะนำข้อที่ 1 คุณต้องมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต
กำลังใจมาจากความคิดด้านบวก หากเราคิดแต่ด้านลบว่า พี่น้องสามคนป่วยกันหมด มีแต่ภาระ ไหนจะทำงาน ไหนจะดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ โรคก็ไม่หาย แถมยังหมดกำลังใจ
หากคิดด้านบวก โชคดีแค่ไหนที่เรามีพี่น้อง มีแม่อยู่ใกล้ชิด ได้ปรึกษาหารือ พูดคุยคอยดูแลซึ่งกันและกัน มีที่ปรับทุกข์ แถมการเป็นโสดก็ทำให้ไม่มีภาระ เป็นอิสระ คิดเสียว่าโรคที่เราเป็น ใครๆ ก็เป็นได้ พี่สองคนก็ป่วยไปตามวัยเป็นธรรมดา เพราะเป็นโรคจากความเสื่อม ส่วนแม่อายุมากก็ต้องหลงลืม แถมทุกคนยังช่วยเหลือตนเองได้
บางบ้านแย่กว่าเรานัก เช่น บ้านหนึ่งภรรยาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย สามีปอกลอกจนหมดตัว เอาเงินไปอยู่กับเมียใหม่ ลูกเต้าก็ไม่มีใครดูแล ไร้คนใกล้ชิด พ่อกับลูกประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตหมด เหลือเพียงแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่คนเดียว ส่วนอีกรายพ่อป่วยเป็นโรคหัวใจนอนไอซียู มีแม่เป็นอัมพาตช่วยตนเองไม่ได้ นอนอยู่บ้าน ลูกพิการ ต้องเฝ้าดูแลทั้งสองคน เป็นต้น และเมื่อตัดสินใจว่าจะสู้ ต้องคิดหาวิธีฟื้นฟูกำลังใจโดยด่วน
คำแนะนำข้อที่ 2 ฟื้นฟูกำลังใจ
วิธีฟื้นฟูกำลังใจของหมอคือ หาหนังสือมาอ่าน ทั้งหนังสือธรรมะ หนังสือเคล็ดลับเอาชนะทุกข์ หนังสือฟื้นฟูพลังภาย หนังสือที่อ่านบ่อยๆ ได้แก่ วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข ของ เดล คาร์เนกี ตอนนั้นหมอได้ปฏิบัติตามหนังสือ สะกดจิตตนเองใช้เทคนิคคลายเครียด ใช้จินตนาการ ใช้การผ่อนคลาย ฯลฯ
มีหนังสือมากมายที่ช่วยฟื้นฟูกำลังใจให้มองเห็นทางออกของชีวิต ทั้งหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ที่เราสามารถเลือกซื้อหาตามความพอใจของเรา อันที่จริงนอกจากการอ่านหนังสือ ก็มีอีกหลายวิธีในการฟื้นฟูกำลังใจที่เหมาะสมกับเรา
• บางคนพูดคุยคลายทุกข์กับเพื่อนสนิท หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
• บางคนใช้วิธีเขียนระบายความทุกข์ สื่อสารในเฟชบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียกับเพื่อนสนิท
• บางคนไปฟิตเนส นวด หรือสปา
• บางคนเย็บปักถักร้อย ปลูกต้นไม้ ทำสวนหรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
• บางคนไปท่องเที่ยวในประเทศ ต่างประเทศ คุณอาจเคยได้ยินว่าคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ไม่ยอมนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน แต่กลับไปท่องเที่ยวทั่วโลก
• บางคนพาครอบครัวไปดูหนัง ฟังเพลง เต้นรำ หรือหาอะไรอร่อยๆ กินกัน
เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณค่า เมื่อนั้นเราจะมีกำลังใจที่จะดำรงชีวิต หลายคนจึงไปเป็นจิตอาสา ช่วยโรงพยาบาล เด็กกำพร้า ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเลี้ยงน้องหมาน้องแมวจรจัด
คำแนะนำข้อที่ 3 คุณต้องมีสติในการรับมือกับความเครียด
สุขง่าย ทุกข์ยาก มีความสุขสงบในใจ ปลงได้ง่าย แต่การจะเป็นเช่นนั้นได้คุณต้องอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่กังวลถึงอนาคต ซึ่งยังมาไม่ถึง เชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หลายคนหันเข้าหาศาสนา ศึกษาธรรมะ สวดมนต์ นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ เดินจงกรมหรือวิธีอื่นๆ ที่ถูกกับอุปนิสัยของตนเอง หากไม่สามารถระงับความฟุ้งซ่านได้ ควรพบจิตแพทย์ค่ะ
คำแนะนำข้อที่ 4 ดูแลสุขภาพกายของตนเอง และคนในครอบครัว
สุขภาพกายที่แข็งแรงเป็นพื้นฐานของสุขภาพใจที่แข็งแกร่ง เมื่อมีโรคต้องศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคที่เป็นและการดูแลตนเอง อย่าเชื่อความรู้ที่ผิด ควรพบแพทย์ตามนัด ดูแลให้โรคสงบ หรือทำให้ชีวิตไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก กินอาหารเป็นยา กินอาหารสดสะอาด หลากหลายครบหมู่ เลี่ยงของหมักดอง ของปิ้งย่าง กินผักผลไม้ทุกวัน ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และพบแพทย์ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
สูติ-นรีแพทย์
โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)