© 2017 Copyright - Haijai.com
แพทย์ไทยใช้รสเปรี้ยวละลายเสมหะ
น้ำส้มสายชู หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของวินีการ์หรือไซเดอร์วินีการ์ (น้ำส้มสายชูหมัก) กำลังฮิตและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้
ในบางประเทศมีการใช้น้ำส้มสายชูเป็นตำรับยากลางบ้าน เช่น ในอาณาจักรบาบิโลเนียใช้วิธีหมักไวน์องุ่นให้กลายเป็นน้ำส้มสายชู เพื่อใช้ดองถนอมอาหารให้ยาวนานยิ่งขึ้น ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ใช้น้ำส้มสายชูในการรักษาแผล
คุณหมอซุงจื้อ (Sung Tse) แห่งวงการแพทย์นิติเวชในศตวรรษที่ 10 ใช้น้ำส้มสายชูกับกำมะถันล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการชันสูตรศพ และในศตวรรษที่ 18 มีการบันทึกว่า หมอในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้น้ำส้มสายชูในการรักษาโรคท้องมาน โรคอาหารเป็นพิษ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น
กลับมาที่ประเทศไทยของเรากันบ้าง จะว่าไปแล้ว ผู้คนในประเทศของเราก็ใช้น้ำส้มสายชูกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งหลายแหล่งสืบทราบว่ามาจากประเทศจีน เกิดจากการหมักพืชผักผลไม้จนเป็นไวน์หรือแอลกอฮอล์ แล้วหมักแอลกอฮอล์ต่อจนกลายเป็นน้ำส้มสายชู หรือกรดแอซิติก หรือการกลั่นจากเอทิลแอลกอฮอล์แบบเจือจาง หมักด้วยเชื้อน้ำส้มสายชู หรือหมักก่อนแล้วค่อยนำไปกลั่นก็ได้
น้ำส้มสายชูมีรสเปรี้ยว มีสรรพคุณซึมซาบไปทั่วร่างกาย ละลายเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงไฟธาตุในระบบย่อยอาหาร ปรากฏอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทยในชื่อ “คัมภีร์กษัย” คือ คัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย หรือธาตุทั้ง 4 เสื่อมโทรมจนเสียสมดุล
น้ำส้มสายชูระบุไว้อยู่ในตำรับการรักษาโรคกษัยปู ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับโรคกระเพาะอาหารของการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้เป็นน้ำกระสายยาเพื่อเพิ่มอัตราการละลายของยา และช่วยเสริมฤทธิ์ยาให้มีการดูดซึมและมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น
ตัวอย่างสมุนไพรในตำรับ เช่น เปลือกไม้ต่างๆ มีสารแทนนินช่วยในการสมานแผลในกระเพาะอาหาร เปลือกหอยต่างๆ ที่ผ่านการสะตุ โดยการเผาไฟจนเปลือกหอยสุกเป็นผงสีขาว ที่เปลือกมีแคลเซียมคาร์บอเนต เปลือกที่เผาแล้วจะเกิดเป้นแคลเซียมออกไซด์ ซึ่งใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหารในการแพทย์แผนปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่าน้ำส้มสายชูนั้น อาจสามารถช่วยรักษาโรคทางเดินอาหารได้ด้วย
อีกหนึ่งสรรถคุณของน้ำส้มสายชูที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ช่วยกัดเสมหะ หรือถ้าจะอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ คือ กรดน้ำส้มเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารประกอบประเภทโปรตีนในเสมหะ ให้ตกตะกอนกลายเป็นก้อนเสลด ทำให้เวลาไอหรือจามจึงหลุดออกมาจากผนังทางเดินหายใจส่วนบนได้
สำหรับวิธีกินน้ำส้มสายชู ขอแนะนำให้กินน้ำส้มสายชูที่มาจากการหมักด้วยผลไม้หรือข้าวปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำมะนาว น้ำผึ้ง อย่างละ 1 ช้อนชา และแทรกด้วยเกลือเล็กน้อย จิบเมื่อมีอาการไอหรือมีเสมหะ
นอกจากนี้แล้วน้ำส้มสายชู อาหารหรือสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ยังเหมาะกับคนที่มีธาตุน้ำ หรอืผู้ที่เกิดในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม หรือเป็นคนที่ค่อนข้างอิ่มน้ำ ผิวดี แต่มักเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ
รวมไปถึงเด็กๆ หรือวัยรุ่นที่มีอายุไม่เกิน 16 ปี ก็เหมาะกับการกินอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวเช่นกัน เพราะในช่วงอายุนี้มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากเสมหะ ซึ่งแตกต่างจากผู้สูงอายุที่มักเจ็บป่วยด้วยโรคลม เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ฯลฯ ยาที่เหมาะสม จึงเป็นยาที่มีรสสุขุม ร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา หรือตำรับยาลม
เวลาก็เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสิบโมงเช้า และหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม เป็นช่วงเวลาที่คนเรามักเจ็บป่วยด้วยโรคทางเสมหะ หรอืที่คนเฒ่าคนแก่มักจะพูดว่า ช่วงเวลาย่ำรุ่งอากาศเย็น น้ำค้างลงให้ระวังเสมหะลงคอ เช่นเดียวกันอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น น้ำส้มซ่า น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มสายชู โดยใช้เป็นน้ำกระสายยาร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ
เห็นได้ชัดว่าในการใช้น้ำส้มสายชูเป็นยาในการแพทย์แผนไทยนั้น ไม่แนะนำให้กินเดี่ยวๆ เนื่องจากความเป็นกรดจึงอาจทำให้เกิดการกัดเยื่อบุทางเดินอาหาร เช่น ปาก คอหอย หลอดอาหาร และสารเคลือบฟันถูกทำลายได้
และรสเปรี้ยวของน้ำส้มสายชูนั้นยังแสลง หรือไม่ถูกกับโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำเหลืองเสีย (ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เป็นผื่น แผล หรือคันตามผิวหนัง) แต่เหมาะกับยารสเมาเบื่อ อาการท้องเสียเหมาะกับยารสฝาด และไข้ต่างๆ เหมาะกับยารสขมหรือเย็น
หากรู้จักกิน รู้จักเลือก น้ำส้มสายชู ก็กลายเป็นยา แต่ถ้าหากใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมก็จักมีโทษอย่างมากมาย
พท.ป.ชารีฟ หลีอรัญ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)