
© 2017 Copyright - Haijai.com
ดูแลเบื้องต้น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและแผลจากสารเคมี
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกวันครับ เนื่องจากคนไทยนิยมทำครัวเอง ซึ่งก็คงไม่แปลกที่จะมีผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก มาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยๆ นอกจากนี้สารเคมีต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีฤทธิ์กัดกรอ่นสูงก็สามารถทำให้เกิดแผลได้เช่นกันนะครับ
เมื่อผิวหนังถูกความร้อนหรือสารเคมี จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชั้นผิวหนัง ซึ่งแบ่งได้เป็นหลายระดับ ถ้าบาดเจ็บตื้นๆ ผิวหนังก็จะมีเพียงอาการและแดง หากการบาดเจ็บลงชั้นลึกกว่านั้น อาจจะเกิดแผลพุพองและมีอาการปวดอย่างมากได้ หากรุนแรงที่สุดผิวหนังจะไหม้เกรียม และเสียความรู้สึกไปอย่างถาวร
คุณดูแลเบื้องต้นได้ดีกว่าหมอเสียอีก!!! อันนี้เป็นคำพูดที่จริงที่สุดเลยครับ เพราะความรุนแรงของแผลจะขึ้นอยู่กับความไวในการดูแลแผลในระดับ “นาที” ดังนั้นการดูแลแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และแผลจากสารเคมีเบื้องต้นที่บ้านของคุณเองให้เร็วที่สุด จึงสำคัญกว่าการมาโรงพยาบาลให้เร็วเสียอีก แล้วต้องทำอย่างไรดี ???
1.รินน้ำสะอาดไหลผ่านแผลปริมาณมาก
-นาน 5-10 นาที สำหรับแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
-นาน 15-30 นาที สำหรับแผลจากสารเคมี
ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งในการทำให้แผลเย็นลง เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก
2.พันแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดแล้วมาโรงพยาบาล ได้โปรด “อย่า” ทาแผลด้วยสิ่งต่างๆ ก่อนมาโรงพยาบาล หมอเจอมาหลายอย่างครับ ทั้งยาสีฟัน เนย น้ำปลา น้ำผึ้ง น้ำมะนาว ครีม เจล เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังทำให้หมอประเมินบาดแผลได้ลำบากกว่าเดิมอีกครับ
เพียงแค่ดูแลอย่างถูกต้องด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาดให้เร็วที่สุดที่บ้านของคุณเอง ก็ช่วยให้หมอดูแลแผลของคุณได้ง่ายขึ้นมากแล้วครับ
ข้อมูลอ้างอิง
-Thermal Burns. (n.d.) In Tintinalli’s Emergency Medicine (8th ed., pp. 1398-1405).
-Chemical Burns. (n.d.) Tintinalli’s Emergency Medicine (8th ed., pp. 1405-1411)
-Pre Hospital Approach to Burns Patient Management. (2014). Retrieved March 05, 2017. From http://www.britishburnassociation.org/pre-hospital-care
นพ.วศิน ปานสิริธนาโชติ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)