© 2017 Copyright - Haijai.com
10 วิธีแก้ซึมเศร้าคนอกหัก
เมื่อเกิดการพลัดพรากขึ้น เช่น ตาย จากกัน สำหรับคนที่อยู่กินด้วยกันมานาน มีความรักใคร่ผูกพัน ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา แม้แต่การพลัดพรากที่ไม่ใช่การตายจาก เช่น การทอดทิ้ง เลิกรากัน หากผู้ถูกทอดทิ้งรู้สึกว่าตนแพ้ ไม่มีที่พึ่ง รู้สึกกังวล ก็ย่อมเกิดความทุกข์เช่นกัน
แต่ความทุกข์จากการถูกทอดทิ้งโดยทั่วไป มักจะสลายไปตามกาลเวลา ในที่สุดผู้คนส่วนใหญ่จะสามารถทำใจ หักห้ามใจ และเดินหน้าต่อไปได้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตามสถิติ หลังการถูกทอดทิ้งร้อยละ 10 จะเกิดความเครียดทางจิตใจอย่างเฉียบพลัน (Acute Stress) แต่สำหรับคนที่เคยเป็นภาวะซึมเศร้ามาก่อนจะเกิดสูงถึงร้อยละ 60
ตัวเลขของการเกิดความเครียดทางจิตใจจากการถูกทอดทิ้งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราหย่าร้างและอัตรานอกใจของหญิงชายไทยในปัจจุบัน โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ คนทั่วไปที่ไม่เคยถูกทอดทิ้งจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเศร้าหนักหนา ทิ้งไปก็หาใหม่ได้ โดยเฉพาะผู้ถูกทอดทิ้งที่เป็นผู้ชาย ซึ่งเกิดอาการเศร้า
แต่เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องของการบาดเจ็บทางจิตใจที่ต้องใช้เวลาเยียวยา หากหายได้ภายใน 1 เดือน ไม่รบกวนชีวิตและกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างและคนในครอบครัวไม่รุนแรง จนก่อให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเองและผู้อื่น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่หากมีอาการรุนแรง เป็นนานและต่อเนื่องจนรบกวนกิจวัตรประจำวันของผู้ถูกทอดทิ้ง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลด ไม่ทำงาน ไม่เข้าสังคม คิดทำร้ายตนเองและผู้อื่น จึงจะถือว่าผิดปกติต้องรีบรักษา
อาการเครียดทางจิตใจจากการถูกทอดทิ้งจะแสดงออกมา 3 ด้าน ดังนี้
1.ด้านความคิด เช่น คิดเรื่องเก่าเรื่องเดิมคิดย้อนไปยอ้นมาอย่างไม่อาจหักห้ามได้ คิดเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่น จะกลับไปคืนดีกัน ฝันร้ายต่อเนื่อง มีความรู้สึกผิด คิดอยากฆ่าตัวเองหรือฆ่าผู้อื่น
2.ด้านอารมณ์ อารมณ์ไม่ดี เครียด ซึมเศร้า ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ก้าวร้าว อารมณ์แกว่าง ด่าทอ หรือระเบิดน้ำตาออกมาทันทีทันใด
3.ด้านพฤติกรรม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่พูด แยกตัว ไม่อยากพบผู้คน งดหรือลดกิจกรรมที่เคยทำ เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง หลีกเลี่ยงสถานที่รูปภาพ สิ่งของเครื่องใช้ที่ทำให้คิดถึงเรื่องเดิม
9 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเครียดจากการถูกทอดทิ้ง คนที่มีอาการรุนแรงมักมีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
1.เป็นพันธุกรรม
2.มีปัญหาการเลี้ยงดูในวัยเด็ก เคยถูกทำร้ายในวันเด็ก
3.เป็นเพศหญิง อาจเพราะเพศหญิงอ่อนไหวมากกว่า เพศหญิงมักเกิดผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น แต่ผู้ชายที่ถูกทอดทิ้งและไม่แต่งงานใหม่ มักเกิดผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาว เช่น เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ติดสุรา ยาเสพติด เป็นโรคอ้วน ซึมเศร้า
4.เคยมีปัญหาทางจิตใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นโรคจิตมาก่อน
5.ติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
6.ไม่มีคนดูแลและให้กำลังใจ
7.เคยถูกทอดทิ้งแบบนี้มาก่อน
8.การศึกษาน้อย ยากจน รายได้ต่ำ มีหนี้สิน
9.การถูกทอดทิ้งที่ทำให้จิตใจบอบช้ำ ทะเลาะกันอย่างรุนแรง เกิดความเครียดเรื้อรัง
5 คำแนะนำสำหรับผู้ถูกทอดทิ้ง
1.ไม่ต้องอดทนต่อการแสดงอารมณ์ ไม่ต้องกลั้นน้ำตาหากโศกเศร้า เครียด เพราะการร้องไห้คร่ำครวญ กรีดร้องเป็นกลไกของร่างกายในการลดความเศร้าและความเครียด
2.ยอมรับ เลิกตำหนิ เลิกต่อสู้กับอีกฝ่าย มองให้เห็นแง่บวก เช่น ได้ ปลดภาระ ได้มีโอกาสเปิดรับคนดีๆ เข้ามาในชีวิต มีอิสระ มีเวลาเพิ่มขึ้น
3.ลดความโกรธ ความเครียด หาวิธีที่ได้ผลสำหรับตนเอง เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ท่องเที่ยว กรวดน้ำ ทำบุญ เดินป่า ชกมวย ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง ฯลฯ
4.อย่าอยู่คนเดียว อย่าจมปลักกับความเศร้า ควรออกไปพบญาติ พบเพื่อนฝูง ทำอะไรใหม่ๆ
5.ดูแลตนเอง ดูแลลูก ผลกระทบทางลบจากการทอดทิ้งจะส่งไปถึงลูกขณะที่ต้องดูแลสุขภพกายใจตนเอง ควรดูแลสุขภาพกายและใจของลูกด้วย หากไม่สามารถทำได้ควรปรึกษาแพทย์
5 คำแนะนำสำหรับญาติเพื่อช่วยผู้ถูกทอดทิ้ง
1.ไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไม่พูดถึงเรื่องเลวร้ายที่ผ่านไปแล้ว ไม่ตำหนิ ไม่ต่อว่าให้ผู้ถูกทอดทิ้งรู้สึกละอาย รู้สึกผิด รู้สึกไม่สบายใจ แต่ควรชี้ชวนให้มองโลกในแง่บวก พูดเรื่องที่ทำให้สบายใจ
2.ช่วยเหลือ เช่น ช่วยดูแลลูก ดูแลสุขภาพ พาไปทำบุญ พาไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
3.ช่วยเป็นที่ระบายอารมณ์ รับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย หาทางออกที่เป็นประโยชน์ ให้ข้อคิด
4.ให้กำลังใจ โอบไหล่ กอด จับมือ ช่วยจัดการคนรอบข้างที่เข้ามา วุ่นวาย พูดให้ร้าย และนินทา
5.พาไปหาหมอ หากอาการไม่ดีขึ้น เป็นรุนแรงขึ้น มีความคิดทำร้ายผู้อื่นหรือคิดฆ่าตัวตาย
สุดท้ายนี้หมอขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กำลังประสบกับความสูญเสียมีจิตใจที่เข้มแข็งและผ่านเรื่องราวร้ายๆ ไปให้ได้ค่ะ
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)