
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคชอบหยิบฉวย (Kleptomania)
โรค “Kleptomania” หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า “โรคชอบหยิบฉวย” หรือ “โรคชอบขโมย” เป็นความผิดปกติทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่พูดถึงอยู่ช่วงหนึ่งในบ้านเรา และในต่างประเทศก็มักมีข่าวว่าดารา หรือคนมีชื่อเสียงบางคน มีภาวะนี้อยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักภาวะนี้ให้มากขึ้นกันครับ ว่าโรคชอบหยิบฉวยนี้มีอาการเป็นอย่างไร ต่างจากการขโมยทั่วไปยังไง และรักษาได้หรือไม่
พบบ่อยแค่ไหน
ความชุกของโรคนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เพราะผู้ที่เป็นภาวะนี้มักไม่ยอมรับ และไม่มารับการรักษา แต่จากการประมาณการน่าจะพบได้ประมาณร้อยละ 0.6 ในคนทั่วไปหรือน้อยกว่านั้น ในผู้ที่โดนจับเพราะขโมยของพบได้ประมาณร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า
อาการเป็นอย่างไร
อาการหลักของโรคชอบหยิบฉวยของ ได้แก่ การมีความรู้สึกหรือความคิดที่จะขโมยของที่เกิดขึ้นมา โดยยับยั้งหรือควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป้าหมายที่ต้องการคือ “ตัวพฤติกรรมการขโมย” ไม่ใช่ “ของที่ขโมย” นั่นคือผู้ที่เป็นภาวะนี้ ไม่ได้อยากได้ตัวของที่ขโมย แต่สิ่งที่ทำให้ผ่อนคลายหรือลดความตึงเครียดคือ การได้ขโมยมากกว่า ดังนั้นของที่ขโมยจึงเป็นของที่ไม่ได้มีความจำเป็นต่อเจ้าตัว ไม่ได้มีราคามากมาย หรือเจ้าตัวก็มักจะซื้อเองได้โดยไม่มีปัญหาอะไร หลังจากขโมยได้แล้ว ของที่ได้ไปก็มักจะเก็บไว้เฉยๆ หรือในบางคนก็อาจส่งคืนเจ้าของ แต่จะไม่ได้เอาไปขายต่อหรือนำไปใช้ประโยชน์อะไร
ความรู้สึกอยากขโมยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจนยับยั้งไม่ได้ และจะดีขึ้นเมื่อได้ขโมยไปแล้ว หลังจากได้ขโมย ความอยากมักจะหายไประยะหนึ่ง แล้วก็กลับเป็นซ้ำอีก จากการศึกษาในผู้ที่เป็นภาวะนี้พบว่า พฤติกรรมการขโมยมีได้ตั้งแต่หนึ่งครั้งต่อเดือนจนถึงหลายสิบครั้งต่อเดือน การขโมยส่วนใหญ่มักเกิดที่ร้านขายของ พฤติกรรมการขโมยจะทำคนเดียว ไม่มีคนอื่นร่วมด้วย และไม่ได้เกิดจากการวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลานาน หรือไม่ได้มีแผนอะไรที่ซับซ้อน เช่น การขโมยเกือบทั้งหมดจะทำในช่วงเวลาที่ร้านเปิดนั่นแหละ ไม่ได้เกิดจากการรอจนร้านปิดแล้วแอบงัดแงะเข้าไปขโมยตอนไม่มีคน เป็นต้น
อาการอยากขโมยของส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยตัวโรคมักเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการขโมยเป็นระยะ และอาการมักเป็นมากขึ้น เวลาที่มีความเครียด โดยทั่วไปผู้ป่วยภาวะนี้มักไม่มารับการรักษานอกจากถูกจับหรือ ผู้ป่วยเริ่มกังวลมากถึงผลที่ตามมาหากโดนจับได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่การขโมยทั่วไป
สิ่งที่คนจำนวนมากสงสัยคือ แล้วโรคนี้ต่างจากการขโมยทั่วไปอย่างไร? ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่าบางครั้งก็แยกค่อนข้างยาก และต้องได้ประวัติจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปธรรมชาติของการขโมยของเป้าหมายจะเป็นตัวสิ่งของ ดังนั้นสิ่งที่ถูกขโมยจึงเป็นของที่ขโมยอยากได้ หรือเอาไปเพื่อให้ได้ประโยชน์อื่น เช่น เอาไปขายเพื่อให้ได้เงิน แต่ในโรคหยิบฉวยของสิ่งที่คนทำต้องการคือ การได้ขโมย โดยที่ตัวสิ่งของมักไม่มีความสำคัญอะไร ของส่วนใหญ่จึงมักเป็นของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนม เสื้อผ้า เครื่องเขียน
นอกจากนี้โรคนี้ต้องแยกจากการขโมยของเพื่อพิสูจน์ตัวที่พบในกลุ่มเด็กวัยรุ่น เช่น วัยรุ่นบางกลุ่ม (ที่เกเรหน่อย) อาจมีการรับน้องหรือพิสูจน์ตนในการเข้ากลุ่มด้วยการให้น้องใหม่ไปขโมยของ เป็นต้น และต้องแยกจากพฤติกรรมการขโมยอันเนื่องจากฤทธิ์ของสารเสพติด เช่น บางคนเวลาเมามากๆ อาจจะไปหยิบฉวยสิ่งของ ซึ่งปกติตอนไม่เมาจะไม่ทำ เป็นต้น
พฤติกรรมการขโมยของอาจพบได้บ้างในคนไข้โรคสมองเสื่อม ในกรณีนี้การขโมยมักเกิดจากการที่สมองเสื่อมลง จนการคิดและการตัดสินใจบกพร่องไปมาก หรือในบางคนก็จำไม่ได้ว่าตัวเองจ่ายเงินแล้วหรือยัง เนื่องจากอาการหลงลืม จึงไม่ถือว่าเป็นโรคหยิบฉวยของแต่อย่างใด
รักษาได้หรือไม่
เนื่องจากโรคนี้พบได้ไม่บ่อย จึงมีข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรักษาไม่มาก อย่างไรก็ตามพบว่ายากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (selective serotonin reuptake inhibitor) สามารถลดพฤติกรรมขโมยได้ นอกจากนี้ยังพบว่าการทำจิตบำบัดก็สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)