
© 2017 Copyright - Haijai.com
สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water)
การปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรม และจากธรรมชาติเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของผู้บริโภค ข้อมูลทางวิชาการกล่าวชัดเจนว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง
เหมือนงแร่ดีบุกในไทย ซึ่งเป็นเหมืองฉีดในภาคใต้นั้น เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ เพราะสารหนูมักเป็นสายแร่ที่เกิดปนไปกับสายแร่ดีบุก ดังนั้นในการทำเหมืองฉีดจึงได้แร่ทั้งสองชนิดออกมาพร้อมกัน แต่ชาวเหมืองแยกเฉพาะดีบุกออกมาใช้ประโยชน์ โดยละเลยสารหนูไว้ในสายน้ำที่ทิ้งไป พฤติกรรมดังนี้ ทำให้แลห่งน้ำใกล้เหมืองมีการปนเปื้อนของสารหนู ซึ่งถูกดูดซึมเข้าสู่ผักและผลไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้ผู้บริโภคผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังที่ชาวบ้านเรียกว่า ไข้ดำ
โศกนาฏกรรมเกี่ยวกับไข้ดำที่เกิดต่อมนุษย์ชาติอย่างร้ายแรงนั้นพบที่บังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เคราะห์ร้ายจากน้ำท่วม ที่เกิดจากพายุขนาดใหญ่พัดจากอ่าวเบงกอล เข้าสู่แผ่นดินใหญ่เป็นประจำ เกิดการพลิกหน้าดินนำเอาสารหนูชั้นใต้ผิวดินขึ้นมาปนกับน้ำที่ท่วมหมู่บ้าน ส่งผลให้น้ำบ่อซึ่งใช้ในการอุปโภคและบริโภคมีสารหนูปนเปื้อน
นอกจากนี้ความหวังดีขององค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง ซึ่งต้องการให้ชาวบังคลาเทศมีน้ำสะอาดใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร องค์กรนี้จึงขุดบ่อบาดาลเพื่อให้ประชาชนได้น้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ผลคือ สามารถลดอัตราการเกิดโรคในทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากองค์กรนี้ขาดความเฉลียวใจว่า ใต้ดินของบังคลาเทศนั้นมีสารหนูมาก ชาวบังคลาเทศจำนวนมากที่ใช้น้ำจากบ่อดังกล่าว จึงเป็นไข้ดำเนื่องจากสารหนู
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ
นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)