© 2017 Copyright - Haijai.com
บ้านและโรงเรียนที่สร้างเสริม Executive Function
บ้านเป็นสถานที่แรกที่จะช่วยสร้างเสริม EXECUTIVE FUNCTION ในเด็ก ด้วยการฝึกให้เด็กเล็กดูแลร่างกายตนเอง ดูแลรอบร่างกายตนเอง ดูแลและทำงานบ้าน ดูแลรอบบ้าน และทำตามกติกาสาธารณะ ตามลำดับ
EXECUTIVE FUNCTION หรือ EF หมายถึง ความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ควบคุมความคิด อารมณ์ลากรกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ประกอบด้วย การควบคุมตนเอง (self control) ความจำใช้งาน (working memory) และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น (cognitive flexibility)
การควบคุมตนเองเป็นเรื่องแรก และเป็นฐานของ EF กล่าวคือกว่าเด็กคนหนึ่งจะดูแลร่งกายตนเองได้ ดูแลข้างของเครื่องใช้ของตนเอง ช่วยทำงานบ้าน และมีความสามารถทำตามกติกาสาธารณะ เด็กต้องควบคุมตนเองให้ทำได้ ประกอบด้วยการตั้งใจมั่น (focus) ไม่วอกแวก (not distract) และสามารถอดทนที่จะไม่หนีไปเล่นจนกว่างานจะเสร็จ (delayed gratification)
การควบคุมตนเองให้กินข้าวเป็นเวลาและเป็นที่เป็นทาง ตักข้าวกินเองโดยไม่ต้องเดินป้อน อาบน้ำ แปรงฟัน เข้านอนตรงเวลา พับเก็บเครื่องนอนตนเองได้ เก็บของเล่นเข้าที่ เตรียมกระเป๋าหนังสือไปโรงเรียน ช่วยกวาดบ้านถูบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เก็บกวาดหน้าบ้านรอบบ้าน รู้จักเข้าคิว ไม่ส่งเสียงดังในที่สาธารณะ ไม่ใช้โทรศัพท์ในสถานที่ห้ามใช้ ฯลฯ เหล่านี้เป็นความสามารถที่ไม่มาเอง ไม่เกิดขึ้นเอง ต้องฝึกฝน ต้องกำกับ จนกว่าเด็กๆ จะทำได้ดี
เป็นหน้าที่ของพ่อแม่โดยตรง
เมื่อส่งเด็กไปโรงเรียน โรงเรียนสมัยเก่าสอนหนังสือให้ทำแบบฝึกหัด และให้การบ้าน เมื่อเด็กกลับบ้านต้องทำการบ้าน ท่องหนังสือ และจัดตารางสอน กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องการความสามารถในการควบคุมตนเองเช่นกัน ไม่วอกแวกจนกว่างานจะเสร็จ เด็กที่ทำได้มีผลการเรียนดี เด็กที่ทำไม่ได้ย่อมได้ผลการเรียนไม่ดี โรงเรียนสมัยเก่าช่วยพัฒนา EF ได้บางส่วน คือ ส่วนการควบคุมตนเอง
แต่กระบวนการสอนหนังสือและเรียนหนังสือในห้องเรียนแบบ classroom นี้ไม่พัฒนาหรือไม่สร้างเสริม EF อีกสองส่วนเท่าใดนัก คือ ความจำใช้งานและการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น เพราะการเรียนหนังสือลักษณะนี้ เด็กมิได้ลงมือทำงานจริงๆ (action) เป็นการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ (knowledge) เสียมากกว่า
ตอนที่เด็กอยู่บ้าน การทำงานบ้านเป็นการลงมือ ทำอะไรบางอย่างด้วยสองมือจริงๆ เริ่มด้วยการกำหนดเป้าหมาย วางแผนทำให้เสร็จเร็ว (จะได้ไปเล่น) และสะอาด (แม่จะได้ไม่ด่า) แล้วลงมือทำ ระวห่างทำอาจจะพบอุปสรรค ก็จะปรับแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เหล่านี้ต้องใช้ความจำ ใช้งานและการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่นอยู่เรื่อยๆ
เมื่อไปโรงเรียน โรงเรียนสมัยใหม่จัดการเรียนการสอนด้วยการลงมือทำ ออกแบบให้เด็กเรียนรู้จากการทำงานจริงๆ คือ learning by action ทันทีที่ทำจึงจะเกิดการบริหารความจำใช้งาน และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น รวมทั้งการควบคุมตนเองเพื่อให้งานเสร็จตามเป้าหมาย ทั้งคุณภาพและภายในเวลาที่กำหนด
ความจำใช้งานเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาสมัยเก่าสอนให้นักเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว เชื้อ HIV ติดได้อย่างไร ยาเสพติด การพนัน การติดเกม ขับรถเร็ว ฝ่าไฟเหลือง ตั้งครรภ์ได้อย่างไร เป็นต้น รู้ดีทั้งนั้นแต่ไม่ทำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมิได้เคยชินหรือถูกฝึกให้บริหารความจำใช้งาน
การทำงานบ้านและการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ จึงใช้ความจำใช้งานอยู่เรื่อยๆ ทำให้สมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex พัฒนาดีกว่า พอถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานต้องตัดสินใจ โดยรีบด่วนว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ความจำใช้งานจะผุดบังเกิดทันเวลา ว่าความเสี่ยงของการร่วมรักโดยไม่ป้องกัน หรือการเร่งมอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟเหลืองอาจจะเกิดอะไรได้บ้าง
และถ้าโรงเรียนสมัยใหม่ใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่นระดับกลุ่มก็จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้คือ EF
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)