
© 2017 Copyright - Haijai.com
ความหวังใหม่ของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน หรือในอดีตเรียกว่า โรคสั่นสันนิบาต เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เกิดการผลิตสารสื่อประสาทชื่อว่า “โดพามีน” ในสมองที่ลดลง ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร และแสดงออกถึงอาการสั่นที่มือทั้งสองข้างแม้กระทั่งอยู่เฉยๆ ก็ตาม หากอาการเป็นมากขึ้น จะทำให้เคลื่อนไหวลำบากมากจนถึงไม่สามารถขยับตัวได้เลย
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกว่าจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อ มีอาการสั่นหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ และเมื่อเวลานั้นมาถึงก็พบว่า สารสื่อประสาทลดลงไปมากแล้ว อีกทั้งการตอบสนองต่อยาก็อาจเป็นไปได้ดี เฉพาะในช่วงแรกของการรักษาเท่านั้น เมื่อระยะท้ายของโรคมาถึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ระบบประสาทและแพทย์จำนวนมาก ที่พยายามคิดค้นหาแนวทางการรักษาที่ให้ทันต่อการเสื่อมของสมอง แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้อย่างเด็ดขาด แต่เป็นที่น่ายินดีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การค้นพบการวินิจฉัยโรคที่เร็วขึ้น อาจช่วยให้การรักษาทำได้เร็วขึ้นมากกว่าเดิม และอาจช่วยชะลอความเสื่อมของสมองส่วนดังกล่าวได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย เชื่อว่าการตรวจเลือดอาจช่วยตรวจหาความเป็นไปได้ ที่จะเกิดโรคพาร์กินสันในอนาคต งานวิจัยชิ้นนี้นักวิจัยได้ค้นพบว่า ในเลือดของมนุษย์มีเซลล์จำนวนมากมาย และในเซลล์เม็ดเลือดนั้นประกอบด้วยส่วนประกอบที่สร้างพลังงาน ให้กับเซลล์ที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย เมื่อส่วนประกอบต่างๆ ถูกใช้ในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์เสร็จสิ้น ก็จะเกิดขยะตกค้างอยู่ในกระแสเลือด แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกลับไม่พบขยะดังกล่าว ข้อมูลนี้ได้ถูกเผยแพร่ และทำให้นักวิจัยต่างพากันประหลาดใจถึงผลพิสูจน์นี้
ศาสตราจารย์ Paul Fisher ได้ทดลองโดยนำอาสาสมัครจำนวน 38 คน โดยจำนวน 29 คนเป็นผู้ป่วยพาร์กินสัน และอีก 9 คนเป็นกลุ่มคนปกติ ศาสตราจารย์ Fisher ได้ตั้งข้อสมมติฐานว่า ในเลือดของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะตรวจพบการทำงานของตัวสร้างพลังงานในเซลล์ (ไมโตคอนเดรีย) ที่มากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้อาจจะต้องรอการขยายผลทำในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ซึ่งทางผู้วิจัยอาจจะต้องระดมทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งหากผลตรวจเลือดนี้เชื่อถือได้แล้ว ในอนาคตการตรวจเลือดอาจใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันทดแทน หรือเสริมด้วยการทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Brain MRI) หรือการตรวจทางรังสีที่มีความยุ่งยากได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่เริ่มมีความผิดปกติในสมองแต่ยังไม่เริ่มมีอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติ
ส่วนเทคโนโลยีการรักษาโรคด้วยวิธีใหม่ๆ ในปัจจุบัน มีงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการผลิตยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยา และลดผลข้างเคียงของยา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มียาในรูปแบบใหม่ เช่น ยาแปะ ยาฝังใต้ผิวหนัง ในอนาคตการศึกษาด้วยความหวังที่จะชะลอการดำเนินของโรค จนถึงการรักษาโรคให้หายขาด นักวิจัยกำลังค้นคว้าทดลองการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และพันธุกรรมบำบัด ซึ่งเชื่อว่าจะส่งเสริมให้เซลล์สมองเพิ่มจำนวน เพื่อสร้างสารสื่อประสาท โดยจะเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคอย่างถาวร
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)