© 2017 Copyright - Haijai.com
อย่าเสียศูนย์กับการสูญเสีย
เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก จาก ลา การสูญเสียเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ Five stages of grief คือปฏิกิริยาตอบสนองปกติของบุคคล หรือครอบครัวเมื่อประสบกับการสูญเสีย ความเศร้าโศก เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสียของ คนรัก หรือผู้ป่วยที่ได้รับข่าวร้าย แบ่งได้เป็น 5 ระยะ
1.Shock and Denial : ปฏิเสธ “ไม่จริง เป็นไปไม่ได้”
เป็นระยะเวลาที่บุคคลพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกลไกปกป้องของบุคคลที่ต้องเผชิญความจริงที่เจ็บปวด การสูญเสียอาจมีอาการชา ขาดความรู้สึกไปชั่วขณะ และไม่สามารถที่จะตั้งสติ จะไม่ยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น
2.Anger : โกรธ “ทำไมต้องเป็นฉันด้วย มันไม่ยุติธรรมเลย”
แสดงความโกรธต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น โทษบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งแวดล้อม รู้สึกว่าทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตนเอง ทำไมไม่เกิดกับคนอื่น พยายามโทษว่าเป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง
3.Bargaining : ต่อรอง “มันคงต้องมีวิธีการรักษาแบบอื่นที่ได้ผล”
รับรู้การสูญเสีย แต่ยังพยายามมองหาสิ่งต่อรอง เพื่อปลอบใจในการที่ยังไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น ยังไม่สมควรที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ขอให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อนจะได้หรือไม่ รวมถึงการพยายามหาที่ย้ำความมั่นใจที่ใหม่
4.Depression : ซึมเศร้า “ช่างเถอะ ฉันไม่สนอะไรแล้วทั้งนั้น”
เป็นระยะที่มีพฤติกรรมแยกตัว เบื่ออาหาร อยากตาย แสดงความรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากคิดว่าไม่สามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ และยังไม่ถือว่าเป็นการป่วยทางจิตเวชแต่อย่างใด
5.Acceptance : ยอมรับ “ฉันยอมรับ และพร้อมจะเดินหน้าต่อ”
เป็นระยะที่เริ่มกลับสู่สภาพเดิม ยอมรับการสูญเสีย เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกและอารมณ์เศร้า รวมถึงสติค่อยๆ กลับมา การยอมรับจะค่อยๆ เกิดขึ้นในที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่า “ฉันสบายดี”
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียแต่ละระยะ อาจใช้เวลาไม่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 แต่อาจจะเกิดกลับไปกลับมา หรือเกิดพร้อมกัน หรือเกิดทีละระยะก็ได้ ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะโศกเศร้า ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันอารมณ์ เข้าใจสภาวะจิตใจของตนเอง ก็สามารถผ่านความโศกเศร้านั้นไปได้
พญ.ณภัคนิษฐ์ ธนชาญวิศิษฐ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)