© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหารเป็นพิษ
หลายท่านอาจจะเคยมีญาติ คนรู้จัก หรือแม้แต่ตนเองที่ประสบกับภาวะ “อาหารเป็นพิษ” กันมาบ้างแล้ว สงสัยกันไหมคะว่า อาหารเป็นพิษเป็นพิษกับร่างกายอย่างไร อาการ การรักษา และวิธีการป้องกันเป็นอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับภาวะนี้กันค่ะ
อาหารเป็นพิษ เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้อธิบายถึงอาการป่วยที่เกิดจากการรับปรทานอาหารหรือน้ำ ที่มีการปนเปื้อน ไม่ว่าจะทั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค สารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือสารพิษอื่นที่ไม่ใช่เชื้อโรค เช่น สารเคมี โลหะหนักและอื่นๆ สำหรับในกลุ่มที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถที่จะระบาดติดต่อกันได้อีกด้วย
กลไกการเกิดอหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ Non-inflammatory type และ Inflammatory type โดยส่วนของ Non-inflammatory type เชื้อหรือสารพิษจากเชื้อจะรบกวนการทำงานของเยื่อบุลำไส้เล็ก จึงทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ มักไม่ค่อยมีอาการข้างเคียง สามารถรักษาแบบประคับประคอง ให้ยาตามอาการได้ หากเป็น Inflammatory type เชื้อหรือสารพิษของเชื้อจะทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก และลุกลามเข้ากระแสเลือดได้ มีถ่ายเป็นมูกเลือดปน ปวดท้อง ไข้ขึ้นสูง บางรายอาจสูญเสียน้ำมาก เกิดภาวะช็อก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องตรวจอุจจาระ ตรวจเลือดเพิ่มเติม และควรได้รับยาฆ่าเชื้อร่วมกับแก้ไขภาวะขาดน้ำอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญก็ คือ อย่าซื้อยาหยุดถ่ายมากินเอง เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อหรือสารพิษคงอยู่ในร่างกายเรานานขึ้น
ดังนั้น หากท่านผู้อ่านหรือคนใกล้ตัวมีอาการไข้สูง อุจจาระมีเลือดปน ท้องเสียถ่ายเหลวมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย ปาก ตา คอแห้งมาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องมาก ควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงนะคะ
เราสามารถป้องกันตนเองจากภาวะ “อาหารเป็นพิษ” ได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด เลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือค้างคืน หากทำกับข้างเอง ให้เลือดแต่ของสดใหม่ เก็บใส่ตู้เย็นแยกเป็นหมวดหมู่ และที่สำคัญมากๆ ก็คือเพียง “ล้างมือ” ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เท่านี้ท่านก็จะสามารถป้องกันตนเองจากภาวะ “อาหารเป็นพิษ” ได้แล้วค่ะ
พญ.นลินี ปิติพรชัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)