Haijai.com


เลิกขับรถเมื่ออายุเท่าไหร่ดี


 
เปิดอ่าน 7623

เลิกขับรถเมื่อไหร่ดี?

 

 

มีคนชอบพูดกันว่า “แก่แล้วไม่ควรขับรถ” บางคนก็พูดกับตัวเองอย่างนี้ เนื่องจากเคยขับรถไปเฉี่ยวชนมาแล้ว บางคนเกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง จึงฉุกคิดถามตัวเองว่าอายุเท่าไหร่จึงไม่ควรขับรถ

 

 

การขับรถเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ทำให้เราดำรงชีวิตแบบอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้ภาวะจิตใจดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมที่ขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุมทั่วถึงดีพอ คนจำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ซื้ออาหารการกินเช่นที่สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นประเทศพัฒนาคนมีบำนาญกิน แต่การขนส่งมวลชนมีไม่พอ ไม่ครอบคลุม  คนส่วนมากไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แก่หรือหนุ่มสาว ต่างก็จำเป็นต้องขับรถจนอายุแก่เฒ่า บางคนไม่รู้จะหันไปพึ่งใครเพราะลูกเต้าส่วนมากพอปีกกล้าขาแข็ง ก็ออกจากรังไปทำมาหากิน มีครอบครัวอยู่ที่อื่น ทิ้งให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องขับรถพึ่งพาตนเอง

 

 

ในประเทศพัฒนาก็ไม่มีตัวเลขอายุที่ขีดเส้นแน่นอน ว่าอายุเท่าไหร่จึงไม่ควรขับรถ เพราะอายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มากำหนดกฎเกณฑ์ว่าควรขับรถ แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้นความสามารถในการมองเห็น ได้ยิน การตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับการขับรถลดลง ทว่าแต่ละคนก็ลดลงไม่เท่ากัน อายุเท่ากันแต่ความสามารถในการมองเห็นได้ยิน และตอบสนองต่อสิ่งเร้าแวดล้อมก็ไม่เท่ากัน

 

 

คนขับรถที่อายุมากจึงต้องมีการประเมินตัวเอง บางคนรู้ตัวเองว่ามีขีดจำกัดแค่ไหนจึงปรับเปลี่ยนการขับรถให้เหมาะกับตัวเอง เช่น

 

 บางคนขับน้อยลง ให้ลูกหรือเมียขับแทน

 

 บางคนหลีกเลี่ยงการขับในเวลากลางคืน

 

 บางคนไม่ถนัดที่จะขับเลี้ยวขวาในถนนจอแจ เพราะกลัวกะความเร็วรถผิดแล้วโดนชนขณะเลี้ยว ก็จำเป็นต้องขับไปข้างหน้าอีกหนึ่งแยกเพื่อขับยูเทิร์น

 

 บางคนปรับเปลี่ยนเส้นทางการขับรถที่ง่ายกว่า

 

 บางคนขับเฉพาะในละแวกบ้านที่คุ้นเคย

 

 

ตามสถิติของสหรัฐฯ คนขับรถที่สูงอายุมีสถิติเกิดอุบัติเหตุปางตายต่อระยะทางเป็นไมล์ มากกว่ากลุ่มอื่น คนขับที่อายุมากกว่า 75ปี เกิดเหตุฝ่าฝืนกฎจราจรและอุบัติเหตุไม่ถึงตายมากกว่าคนหนุ่มสาว เขามีกฎเกณฑ์ในแต่ละมลรัฐแตกต่างกันในการออกใบอนุญาตขับรถ

 

 

ประเมินตนเอง...เรื่องสำคัญ

 

การประเมินตนเองมีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุในการพิจารณาตัวเอง เพราะฉะนั้นลองพิจารณาดูว่าเคยมีเหตุการณ์หรือสภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวท่านหรือไม่

 

 เคยมีประวัติหกล้มง่ายๆ บ้างไหม ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งบอกเตือนล่วงหน้าของระบบประสาทและสมองเสื่อมลง

 

 เคยมีอุบัติเหตุเล็กๆ หรือฝ่าฝืนกฎจราจรโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ขับฝ่าไฟแดงบ้างไหม
สายตาเป็นอย่างไร อ่านหนังสือตัวเล็กๆ ได้ไหม อ่านป้ายจราจรได้ดีแค่ไหน มีความสามารถทางร่างกายเป็นอย่างไร เดินเหินลุกนั่งคล่องตัวหรือไม่

 

 กินยารักษาโรคประจำตัวอะไรบ้าง ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมลดความสามารถในการขับรถ เช่น ยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาท ยาต้านความเครียด ฯลฯ

 

 มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ไหม เช่น โรคลมชักหรือลมบ้าหมู โรคหัวใจขาดเลือดรุนแรงจนเกิดหัวใจวาย (heart attack) หรือหัวใจเต้นผิดปกติจนเกิดอัมพาต (stoke) เฉียบพลันขณะขับรถ

 

 ช่วงเวลาไหนที่เราชอบง่วงหลับ เช่น หลังอาหารเที่ยงมื้อใหญ่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรกินอาหารเที่ยงให้น้อยลงก่อนจะไปขับรถ ถ้าอดหลับอดนอนก่อนมาขับรถก็ต้องระวัง บางคนเคยกินกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นประจำ ถ้าไม่ได้กินจะเกิดอาการถอนยาทำให้ง่วงหลับคาพวงมาลัยได้ง่าย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรู้ไว้และแก้ไขหลีกเลี่ยง

 

 ถ้าไม่แน่ใจว่าคุณหรือคู่ครองที่มีอายุมากจะยังมีความสามารถในการขับรถได้ดีหรือเปล่า ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจะช่วยซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจสายตา เพื่อหาโรคที่ทำให้การขับรถอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ควรปรึกษาเภสัชกรดูว่ายาที่กินมีผลต่อการขับรถหรือไม่ ถ้ามีควรปรับเปลี่ยนอย่างไร

 

 

การตรวจแบบนี้สามารถลดอุบัติการณ์ของการขับที่เป็นลมชักพุ่งเข้าสู่ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณเมื่อเร็วๆ นี้ลงได้ ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่สหรัฐฯ เขามีคอร์สการสอนขับรถสำหรับผู้สูงอายุ และบางแห่งมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแนะนำผู้สูงอายุถึงเทคนิคการขับรถที่ปลอดภัย เช่นที่ AAA หรือสมาคมรถยนต์อเมริกัน เป็นต้น

 

 

ส่วนมากมันขึ้นอยู่กับผู้ขับรถเองว่าจะทำตัวอย่างไร จะเลิกขับรถหรือไม่ หรือจะใช้ขนส่งมวลชนแทนเมื่อจำเป็น หรือบางแห่งมีบริการแท็กซี่ หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนให้โดยสารไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเว็บไซต์หรือเบอร์โทรขอความช่วยเหลือ

 

 

เมื่อไหร่จึงควรเลิกขับรถเป็นสิ่งที่ผู้ขับจะพิจารณาตัดสินใจเอง เพราะส่วนมากไม่มีกฎหมายบอกตัวเลขไว้ สิ่งหนึ่งที่ต้องแนะนำเอาไว้ คือ เมื่อมีสิ่งบอกเหตุแล้ว ต้องพึงจดจำ อย่าชะล่าใจ ปล่อยให้มันเกิดเหตุใหญ่ ถึงขนาดปางตาย แล้วจึงเรียนรู้ เสียค่าเล่าเรียนแพงๆ ด้วยการบาดเจ็บล้มตาย

 

 

นพ.นริศ เจนวิริยะ

ศัลยแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)