© 2017 Copyright - Haijai.com
ไวรัสโรตาและไวรัสอาร์เอสวีโรคในฤดูหนาว
จับตา 2 ไวรัสร้ายฤดูหนาว
อากาศในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวแบบนี้คงจะมีลมเย็นๆ พัดโชยมาให้ชื่นใจกันใช่ไหมคะ แต่นอกจากอากาศที่เย็นลงแล้ว รู้หรือไม่คะว่า... โรคภัยบางอย่างมักฉวยโอกาสแพร่ระบาดในช่วงนี้อีกด้วย และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ 2 ไวรัสตัวร้ายที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรู้จัก ซึ่งก็คือ “ไวรัสโรตา” และ “ไวรัสอาร์เอสวี” นั่นเองคะ
ไวรัสโรตา (Rota Virus)
เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ไวรัสชนิดนี้มีรายงานการระบาดทุกปีในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 2 ปี อย่างไรก็ตามเด็กโตและผู้ใหญ่เองก็สามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
อาการเด่นของโรคไวรัสโรตา คือ คนไข้จะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มักอาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็กจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก และรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้เสี่ยงกับการขาดน้ำ นำไปสู่การช็อก ความดันโลหิตตก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคติดเชื้อไวรัสโรตานี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค ยังไม่มีการผลิตคิดค้นยาใดๆ ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นไปที่การชดเชยน้ำส่วนที่ร่างกายเสียไป ไม่ว่าจะโดยการรับประทานทางปาก หากเด็กมีอาการอาเจียนรุนแรง ไม่สามารถให้ดื่มน้ำได้ ก็อาจจะจำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ
อาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังขาดน้ำอย่างรุนแรง และผู้ปกครองสมควรต้องรีบพามาโรงพยาบาลโดยเร็ว ได้แก่ ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตาไหล ตาโหลลึก และเด็กซึมลงเรียกไม่ตอบสนอง
โดยทั่วไประยะการเกิดโรคของไวรัสโรตาจะอยู่ที่ราวๆ 3-8 วัน โดยประมาณ ถ้าหากได้รับสารน้ำเพียงพอเด็กจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนหายดีในที่สุด ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะต่อโรค แต่การติดเชื้อไวรัสโรตาก็สามารถป้องกันได้ ไวรัสโรตาติดต่อกันผ่านอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ทั้งก่อนและหลังจากที่แสดงอาการว่าป่วย
ดังนั้น ในส่วนของการป้องกันจึงควรทำให้แน่ใจว่า น้ำดื่มและอาหารปรุงสุกสะอาดด้วยความร้อนมากเพียงพอ ล้างมือหลังสัมผัสอุจจาระและสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยทุกครั้ง รวมไปถึงควรจะล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงและสัมผัสอาหาร
ที่สำคัญ คือ เชื้อไวรัสโรตานั้นมีวัคซีนป้องกันได้โดย จะสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากที่สุด ดังนั้น เพื่อความมั่นใจและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ที่กังวลว่าลูกจะป่วยด้วยเชื้อไวรัสชนิดนี้ ขอแนะนำให้ลองปรึกษากับกุมารแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันดูค่ะ
โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus, RSV)
เป็นโรคฮิตอีกหนึ่งโรคในช่วงฤดูหนาว เป็นการติดเชื้อไวรัสที่มีอาการใกล้เคียงกับไข้หวัดธรรมดามาก ไวรัสชนิดนี้ติดต่อกันได้ง่ายพอๆ กับเชื้อหวัด นั่นคือ สามารถติดต่อผ่านการไอจามใส่กัน ผ่านสารคัดหลั่ง และติดต่อผ่านการสูดละอองปนเปื้อนเชื้อโรคที่ลอยมากับอากาศ เรียกได้ว่าติดง่ายเสียจนมีการทำนายว่าเด็กทุกคนก่อนอายุ 2 ปี จะต้องเคยป่วยด้วยเชื้อไวรัสชนิดนี้มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
อาการของเชื้อไวรัสอาร์เอสวีนั้นจะเหมือนกับอาการของไข้หวัดทุกประการ คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูกและเสมหะ อาจจะมีอาเจียน ถ่ายเหลวและรับประทานอาหารได้น้อยลงร่วมด้วย แต่หลักๆ จะเป็นอาการไข้ ไอและมีน้ำมูก ความน่ากลัวของเชื้อไวรัสชนิดนี้คือ มันสามารถพัฒนาลงไปติดเชื้อได้ถึงในปอด และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ในเด็กที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจและปอดเป็นทุนเดิม เมื่อป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบร่วมด้วยมากกว่าปกติ
เช่นเดียวกับการติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ นั่นคือ ไวรัสอาร์เอสวียังไม่มียาฆ่าเชื้อที่จำเพาะเจาะจงกับโรค การรักษาส่วนใหญ่เป็นแบบประคับประคองโดยหลักคือป้องกันการขาดน้ำ เช็ดตัวลดไข้ และให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไข้สูง การดูดน้ำมูกออกในเด็กเล็ก เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมูก ซึ่งมีเชื้อไวรัสแฝงอยู่นั้นแพร่ลงไปในปอด เนื่องจากในเด็กเล็กจะยังไม่สามารถขับน้ำมูกออกมาเองได้ จึงต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ดูดออกให้เท่านั้น
กรณีที่เร่งด่วนที่จำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์ ได้แก่ ผู้ป่วยหอบหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ดในปอด หายใจเร็วตื้น โดยปกติเด็กไม่ควรหายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที
โรคติดเชื้ออาร์เอสวีไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนไวรัสโรตา แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการลดการปนเปื้อนจากผู้ป่วย เช่น การเช็ดล้างทำความสะอาดสิ่งของที่ได้สัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย หมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อออกสู่วงกว้าง แยกจานชามช้อนส้อมของผู้ป่วยออกจากคนอื่นๆ ชั่วคราว จนกว่าจะหายสนิท
หวังว่าหนาวนี้ท่านผู้อ่านคงจะได้ความรู้เอาไว้ใช้ป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักจากโรคร้ายต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้นแล้วนะคะ
พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิต
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)