Haijai.com


ปัญหาทางเดินอาหารกวนใจวัยสูงอายุ


 
เปิดอ่าน 5472

ท้องไส้กวนใจวัยสูงอายุ

 

 

ปัญหาทางเดินอาหารที่พบบ่อย

 

วัยสูงอายุเป็นวัยที่ผู้คนได้พักผ่อนจากภาระงานอันหนักหน่วงในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามเนื่องจากร่างกายย่อมมีความเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาจากความเสื่อมของระบบต่างๆ รวมทั้งทางเดินอาหารย่อมบั่นทอนคุณภาพชีวิตที่ผู้สูงวัยควรจะมี ดังนั้น เราควรจะทำความรู้จักปัญหาและแนวทางแก้ไขป้องกัน เพื่อความสุขในบั้นปลายชีวิต

 

 

ทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลง ที่มาของปัญหา

 

ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่าระบบต่างๆ ในร่างกายรวมถึงระบบทางเดินอาหารย่อมเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น ผลกระทบจากความเสื่อมของแต่ละองค์ประกอบในระบบทางเดินอาหารมีดังนี้

 

 ช่องปาก ผู้สูงอายุจะหลั่งน้ำลายน้อยลง ทำให้ฟันผุง่ายขึ้น ผู้สูงอายุจึงเจ็บฟัน สูญเสียฟันเมื่ออายุมากขึ้น ท้ายที่สุดการเคี้ยวอาหารต่างๆ จึงไม่ค่อยดี ทำให้สำลักได้ง่าย นอกจากนี้การที่น้ำลายแห้ง ทำให้ผู้สูงอายุเป็นแผลในปากได้ง่ายขึ้น รวมถึงการรับรู้รสชาติของอาหารที่เสื่อมลง ซึ่งลดความอยากอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่ายขึ้น

 

 

 การกลืนอาหาร กล้ามเนื้อหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง ทำให้กลืนยากขึ้น สำลักได้ง่ายขึ้น ตลอดจนรับประทานอาหารได้น้อยลง

 

 

 กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้สูงอายุจะมีผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารที่บางลง จึงมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรับประทาน ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร

 

 

นอกจากนี้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ช้าลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเตียงหรือเคลื่อนไหวได้น้อย การบีบตัวที่ลดลงนี้ยังทำให้ยาที่ดูดซึมในช่วงต้นๆ ของระบบทางเดินอาหารถูกร่างกายดูดซึมได้น้อยลงอีกด้วย

 

 

 ตับ เอนไซม์ที่ย่อยสลายยาหรือสารเคมีจากภายนอกร่างกายจะทำงานได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อปัญหายาตีกัน หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากขึ้น

 

 

 ลำไส้ใหญ่ การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ก็ช้าลงตามวัยที่มากขึ้น ทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้ใหญ่นานขึ้น และแข็งมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงท้องผูกได้ง่าย

 

 

เมื่อโรคอื่นส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร

 

โรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของผู้สูงอายุยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ผู้สูงอายุที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็จะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น หรือการป่วยด้วยโรคเบาหวาน พาร์กินสัน ก็ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารในที่สุด นอกจากนี้ยาบางอย่างก็ยังทำให้ท้องผูกได้ง่าย เช่น ยานอนหลับ ยาปัสสาวะ หรือยาแก้แพ้บางตัว

 

 

การรักษาและการดูแลตนเอง

 

ผู้สูงอายุควรสังเกตอาการหรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ความผิดปกติที่ควรจะไปพบแพทย์ได้แก่

 

 การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย เช่น แต่เดิมไม่เคยท้องผูก แต่ตอนนี้กลับมีอาการท้องผูกหรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย

 

 ลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น มีมูกหรือเลือดปน

 

 เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 

 กลืนอาหารลำบาก

 

 

ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง ในกรณีที่จำเป็น ให้แจ้งโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยาแก่เภสัชกรประจำร้านยา เพื่อป้องกันปัญหายาตีกัน (เช่น โอมีพราโซล ซึ่งเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร สามารถลดการออกฤทธิ์ของยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ชื่อว่าคลอพิโดเกรลได้) หรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ (เช่น ในกรณีของผู้ป่วยโรคไตวายได้รับยาระบายที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ อาจส่งผลให้แมกนีเซียมในร่างกายสูงขึ้น จนเกิดความผิดปกติได้)

 

 

ปัญหาระบบทางเดินปัญหาหลายอย่าง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา ขอเพียงแค่ฝึกสุขนิสัยที่ดี เช่น การเพิ่มปริมาณใยอาหารที่รับประทาน การดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม หรือการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ สุขนิสัยอื่นๆ ที่ควรฝึกเพื่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารที่ดี ได้แก่

 

 การรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป

 

 การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 การหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่าย

 

 การลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน

 

 การลดหรือหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เนื่องจากน้ำอัดลมบางชนิดมีคาเฟอีน นอกจากนี้น้ำอัดลมยังมีการอัดแก๊ส ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ง่ายขึ้น

 

 

ระบบทางเดินอาหารนั้นจริงๆ เป็นแค่ระบบเดียวในร่างกาย การที่เราจะมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ก็คงต้องดูแลทุกระบบในร่างกายร่วมกัน โดยการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี หมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และมีสุขภาพจิตที่ดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)