© 2017 Copyright - Haijai.com
จำปี จำปา แก้วิงเวียน
พรรณไม้ในวงศ์จำปาเป็นประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กถึงไม้พุ่ม เปลือกไม้ค่อนข้างฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน เนื้อไม้มีกลิ่นค่อนข้างหอม ชนิดที่ใช้เป็นยาสมุนไพรมากที่สุด คือ “จำปา” โดยใช้เป็นส่วนประกอบของยาหอม ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554
“จำปา” เป็นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์โบราณที่สุดคือ Magnoliaceae มีชื่ออื่นว่า จำปากอ จำปาเขา จำปาทอง และจำปาป่า เป็นไม้สูง 10-15 เมตร เป็นหนึ่งในดอกหรือเกสรทั้งเจ็ด ประกอบด้วย ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกกระดังงาไทย เกสรบัวหลวง ดอกพิกุล และดอกจำปา ส่วนเกสรทั้งเก้านั้น เพิ่มมาอีก 2 ชนิดคือ ดอกลำดวน และดอกลำเจียก
จำปาเป็นไม้สมุนไพรไทยที่ใช้เป็นส่วนประกอบของยาหอมในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 คือ ยาหอมทิพโอสถแก้ลม วิงเวียน ละลายน้ำดอกไม้ หรือน้ำสุก และยาหอมอินทจักร์แก้ลมบาดทะจิตใช้น้ำดอกมะลิ แก้คลื่นเหียนอาเจียนใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก แก้ลมจุกเสียดใช้น้ำขิงต้ม ดอกจำปามีน้ำมันหอมระเหยใช้เข้ายาไทย เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงระบบประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ ขับปัสสาวะ แก้ไข้
ส่วน “จำปี” นั้น มีใช้เฉพาะในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณเท่านั้น คือ ดอกจำปีและดอกจำปาเป็นตัวยาช่วยในยาแก้ลมวิงเวียน
ความแตกต่างระหว่างจำปีและจำปา |
|
จำปา |
จำปี |
ไม้ต้นสูงได้ถึง 50 เมตร |
ไม้ต้นสูงได้ถึง 30 เมตร |
ใบขนาดเล็กกว่า (4-10 x 10-30 ซม.) |
ใบขนาดใหญ่กว่า (5.5-11 x 15-35 ซม.) |
ดอกสีเหลือง แกมเหลืองถึงสีเหลืองแกมส้ม |
ดอกสีขาว |
ดอกบานเวลา 20.00-21.00 นาฬิกา |
ดอกบานเวลา 02.00-03.00 นาฬิกา |
เก็บดอกเฉลี่ยวันละ 70 ดอกต่อต้น |
เก็บดอกเฉลี่ยวันละ 40 ดอกต่อต้น |
อายุประมาณ 9-10 ปี |
อายุประมาณ 10-15 ปี |
พรรณไม้ในวงศ์จำปาเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ที่สุดในหมู่ไม้ประเภทไม้ดอกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากว่ามีวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดต่ำที่สุด ทำให้มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ในธรรมชาติได้ตลอดเวลา ดังเช่นที่มีการขุดค้นพบซากของไดโนเสาร์ที่มีอายุหลายล้านปีที่ชาน กรุงปักกิ่งพบว่ามีซากดอกแมกโนเลียติดขึ้นมาด้วยและปรากฏว่ายังมีลักษณะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าแมกโนเลียมีวิวัฒนาการน้อยที่สุด
พบว่าจากการสำรวจการกระจายพันธุ์ของพืชกลุ่มแมกโนเลียในประเทศไทยหลายชนิดมีการกระจายพันธุ์ต่ำมาก เหลือจำนวนต้นที่สามารถขยายพันธุ์อยู่น้อยมาก กล่าวได้ว่าอยู่ในสภาวะที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้มากที่สุด ซึ่งอาจเนื่องจากว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและสภาพทางนิเวศวิทยาของถิ่นกำเนิดเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมีแมลงกัดกินทำลายอย่างรวดเร็ว จึงควรมีการศึกษาแนวทางในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกเลี้ยงให้แพร่หลายมากขึ้น
ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิต ฉั่วกุล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)