© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคนิ้วล็อค
นิ้วล็อค
ท่านผู้อ่านเคยพบกับอาการแบบนี้ไหมคะ ... เวลากำมือสามารถงอนิ้วได้ตามปกติ แต่พอจะเหยียดนิ้วกลับเหยียดนิ้วออกไม่ได้เหมือนกับนิ้วโดนล็อคเอาไว้ จนเป็นที่มาของชื่อโรค “นิ้วล็อค”
กลุ่มเสี่ยงคือ
โรคนิ้วล็อคมักพบในวัยกลางคน โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในผู้ที่มีการใช้งานลักษณะเกร็งมือและนิ้วบ่อยๆ เช่น แม่บ้านที่ทำงานบ้าน (ชักผ้าด้วยมือ ถือถุงหิ้วของไปจ่ายตลาด ทำกับข้าว) ผู้ที่หิ้วของหนักเป็นประจำ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ผู้ที่ชอบเล่นดนตรีบางประเภท เช่น กีตาร์ ผู้ที่ชอบเล่นกีฬาบางประเภท เช่น กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ช่างที่ต้องใช้งานพวกไขควง เลื่อย ค้อนต่างๆ เป็นประจำ
เกิดขึ้นเพราะ
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากภาวะที่ไม่สมดุลกันระหว่างขนาดของเส้นเอ็นและรูที่ปลอกหุ้มเอ็น โดยอาจเกิดจากการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่อยู่บริเวณโคนนิ้วมือ หรือเกิดจากการบวมอักเสบของเส้นเอ็นก็ได้ หรืออาจจะเกิดทั้งสองอย่างร่วมกัน ผลคือทำให้เส้นเอ็นไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าออกผ่านปลอกหุ้มเอ็นได้อย่างสะดวก เกิดเป็นอาการติดขัดของเส้นเอ็นขึ้น
อาการที่พบ ได้แก่
อาการของโรคนิ้วล็อคมีทั้งหมด 4 ระยะ
1.ระยะอักเสบ จะมีอาการปวดบริเวณฝ่ามือตรงกับโคนนิ้วมือ (ด้านตรงข้ามกับปุ่มมะเหงกนี่เอง) มีอาการกดเจ็บบริเวณดังกล่าว แต่ยังไม่มีอาการสะดุดหรือนิ้วล็อค
2.ระยะนิ้วสะดุด เมื่อมีการงอแล้วเหยียดข้อนิ้วจะพบกับอาการสะดุดขณะทำ ถ้าอาการไม่ชัดเจนการกดที่โคนนิ้วมือจะทำให้อาการชัดเจนมากขึ้น
3.ระยะนิ้วล็อค เส้นเอ็นเคลื่อนได้น้อยลง เวลาที่งอข้อนิ้วจะไม่สามารถเหยียดข้อนิ้วออกได้เอง ต้องใช้มืออีกข้างช่วยในการเหยียดนิ้วออก
4.ระยะข้อนิ้วติด ระยะนี้ข้อนิ้วมือจะติดในท่างอ ไม่สามารถเหยียดออกได้ หากพยายามฝืนเหยียดจะทำให้มีอาการปวดมาก
ถ้าเป็นในระยะเริ่มแรก เช่น ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวดตามอาการ และที่สำคัญคือ ต้องหยุดพักการใช้งานของมือ สามารถลดอาการปวดโดยแช่มือลงในน้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง ร่วมกับทำกายภาพด้วยการเหยียดนิ้วออกเบาๆ ถ้ายังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาฉีดสเตียรอยด์บริเวณที่เป็น เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2-3 ครั้ง เพราะจะทำให้เส้นเอ็นบางลงและขาดได้
ส่วนในการรักษาระยะ 3 และ 4 หรือผู้ที่รักษาด้วยวิธีตามข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมี 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบเปิดแผลแล้วตัดปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือออก อีกวิธีคือ การผ่าตัดแบบปิด โดยใช้ปลายเข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก ซึ่งมีโอกาสสะกิดถูกเส้นประสาทได้ จึงควรหลีกเลี่ยงในนิ้วที่มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทสูง เช่น นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ และไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคอื่นๆ ของเส้นเอ็นร่วมด้วย
ป้องกันได้โดย
• แม่บ้านที่มีการหิ้วของ เช่น ตะกร้า ถุงพลาสติก ควรหลีกเลี่ยงการหิ้วของที่มีน้ำหนักมาก หากจำเป็นต้องหิ้ว ให้หาผ้าขนหนูมารอง เพื่อให้น้ำหนักกระจายมาอยู่ที่ฝ่ามือแทน
• การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ไขควร ตะหลิว หรืออุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้เทนนิส ให้หาผ้ามาห่อหุ้มด้ามจับ เพ่อให้ที่จับนุ่มขึ้น และลดแรงเสียดสีระหว่างมือกับอุปกรณ์ต่างๆ
• ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้เครื่องซักผ้าแทนการซักด้วยมือ ใช้สายยางฉีดน้ำแทนการยกถังน้ำ หรือใช้รถเข็นของแทนการยกของด้วยมือเปล่า
• หากทำงานที่ต้องเกร็งมือมากๆ ให้พักการใช้งานมือเป็นระยะๆ
โรคนิ้วล็อคไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ถ้าเป็นโรคนี้ขึ้นมาแล้วย่อมก่อให้เกิดความรำคาญ และความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เป็นไม่มากก็น้อย ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคตามคำแนะนำข้างต้นจึงเป็นการดีที่สุดค่ะ
พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)