
© 2017 Copyright - Haijai.com
อาการใจสั่นจากโรคหัวใจ
ใจสั่นจากโรคหัวใจ
ลักษณะอาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือโรคหัวใจ ได้แก่
• อาการใจสั่นที่เกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ
• อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่มีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่สามารถอธิบายได้
• อาการใจสั่นที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
• อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หรือแม้แต่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
• อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่มีประวัติญาติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่ออายุยังน้อย เป็นต้น
เมื่อต้องไปพบแพทย์
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่งตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่เกิดภาวะดังกล่าวข้างต้น เช่น ตรวจระดับความเข้มข้นเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
อาจตรวจเอกซเรย์เพื่อดูเงาปอดและหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งมีความสำคัญมากในการวินิจฉัยหรือนำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่งสายพานเลื่อน (Exercise Stress Test)
ผู้ป่วยที่สงสัยว่าความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แพทย์จะส่งตรวจด้วยเครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography)
ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่เกิดอาการไม่บ่อย แพทย์อาจส่งตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง ที่สามารถพกพาติดตัวและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานๆ ได้ เช่น 24-48 ชั่วโมง (Ambulatory ECG monitoring หรือ Holter)
อย่างไรก็ตามพบได้บ่อยว่า เมื่ออาการและการเต้นผิดจังหวะของหัวใจหายไปก่อนพบแพทย์แล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย โดยการจับชีพจรและนับอัตราการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 1 นาที และสังเกตจังหวะของชีพจรว่าเร็วกว่าปกติหรือไม่ ชีพจรสม่ำเสมอหรือเร็วช้าไม่สม่ำเสมออย่างไร
นอกจากนี้การสำรวจสมรรถภาพร่างกายตนเอง เช่น เหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมบ่อย ใจสั่นมกผิดปกติทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย มีอาการบวมในร่างกายเกิดขึ้น นอนราบไม่ได้ ก็ควรจดบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้การวินิจฉัยโรคเป็นอย่างยิ่ง
นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล
อายุรแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)