
© 2017 Copyright - Haijai.com
5 วิธีลดอาการปวดฟันเบื้องต้น
ปวดฟัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีที่ดีที่สุดคือ “การไปพบทันตแพทย์” เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงต้นตอของสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่บางครั้งการปวดฟันก็ไม่เลือกเวลาและสถานที่ อยู่ดีๆ ปวดขึ้นมากลางดึกก็มี ซึ่งจะไปหาหมอฟันตอนนั้นเลยก็คงไม่ได้ แล้วเราควรทำอย่างไรดี
หากปวดฟันแต่ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะไปหาหมอฟันได้ในทันที สิ่งที่เราควรต้องรู้คือ “วิธีลดอาการปวดฟันเบื้องต้น” ได้แก่
1.รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการหรือลดอาการปวดที่จะเพิ่มขึ้น ชนิดของยาแก้ปวดฟันที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ในกรณีที่ปวดเล็กน้อยไม่รุนแรงมาก อาจเริ่มต้นด้วยการใช้ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ดในผู้ใหญ่ ห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง สามารถรับประทานต่อเนื่องได้เลย (แต่ไม่ควรต่อเนื่องกันนานเกิน 7 วัน) ไม่ต้องรอให้ปวดซ้ำ และให้รีบมาพบหมอฟันก่อนที่อาการปวดจะรุนแรงขึ้น จนยาพาราเซตามอลเอาไม่อยู่
แต่หากอาการปวดรุนแรง ใช้ยาพาราเซตามอลแล้วได้ผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ผลเลย แสดงว่าอาการปวดฟันมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาที่ระงับอาการปวดที่มีฤทธิ์แก้ปวดได้ในระดับปานกลาง ได้แก่ ยาแก้ปวดช่วยลดการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal anti-inflammatory drug. NSAID) หมายถึง ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้เป็นยาแก้ปวดได้ดีโดยเฉพาะอาการปวดจากการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟนชนิดเม็ด 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
อย่างไรก็ตามการใช้ยากลุ่มนี้ต้องระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง เนื่องจากยาแก้ปวดกลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นกรด ในการใช้จึงควรรับประทานหลังอาหารทันที เพื่อช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีผลต่อการทำงานของไต จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยง ผู้ป่วยบวมน้ำ ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออก หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้
2.เอาเศษอาหารออกจากรูฟันผุ ในกรณีที่ปวดฟันจากากรมีฟันผุขนาดใหญ่ มองเห็นรูผุง่าย การมีเศษอาหารเข้าไปติดก็เป็นการกระตุ้นให้ปวด แก้ไขโดยบ้วนน้ำให้เศษอาหารหลุด หรือใช้แปรงสีฟันเขี่ยออกเบาๆ อาจจะช่วยทุเลาอาการปวดได้ อาการจะเป็นมากถ้าอาหารถูกอัดแน่นในซอกเหงือกเป็นเวลานาน จึงควรรีบเอาเศษอาหารเหล่านั้นออกมาให้เร็วที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้ไม้จิ้มฟัน เพราะอาจทำให้ติดเชื้อลุกลาม รวมถึงทำอันตรายต่อเหงือกได้
3.หลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ปวดมากขึ้น เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เย็นจัด ร้อนจัด หรือบรรดาอาหารที่มีรสจัดทั้งหลาย เช่น เปรี้ยวจัด หวานจัด
4.ลดการกระทบกระแทกฟันซี่นั้นๆ อาการปวดฟันจะเป็นมากขึ้นถ้าฟันซี่นั้นถูกกระแทกบ่อยๆ หรือตัวฟันสูงกว่าซี่อื่นๆ บางครั้งฟันถูกดันลอยตัวขึ้นมาเพราะมีหนองที่ปลายราก วิธีง่ายๆ คือ ใช้อีกด้านหนึ่งเคี้ยวอาหารแทน แต่บางทีมันอาจกระทบกันได้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น อาหารนิ่มๆ อ่อนๆ ไม่ควรเคี้ยวอาหารแข็งๆ หรือเหนียวๆ ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมาก
5.ประคบเย็น อาจใช้เจลเย็น ผ้าชุบน้ำเย็นจัด หรือห่อน้ำแข็งมาประคบบริเวณข้างแก้มด้านนอกของฟันที่ปวด จะช่วยลดกระบวนการอักเสบของร่างกาย บรรเทาอาการปวดได้บ้าง แต่ห้ามอมน้ำแข็งนะคะ เพราะถ้าน้ำแข็งโดนฟันที่ปวดอาจทำให้ปวดหนักกว่าเดิม
คำถามที่พบบ่อย
มีอยู่คำถามหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดฟัน ซึ่งมีผู้สอบถามกันเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือ การใส่ยาในโพรงฟันเพื่อลดอาการปวดฟันสามารถทำได้หรือไม่ อันที่จริงทันตแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ค่ะ
เพราะเป็นยาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขององค์การอาหารและยา หรือ อย. แต่ถ้าถามว่ามันช่วยลดอาการปวดฟันได้จริงหรือไม่ และอันตรายไหม หมอขอตอบว่า ช่วยลดได้ค่ะ แต่ก็มีอันตรายด้วยเช่นกัน ที่ช่วยลดอาการปวดฟันได้เพราะในยาเหล่านี้ จะมีส่วนผสมของน้ำมันกานพลู (Clove oil) ที่มีการออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ได้ จึงช่วยลดอาการปวดเพราะทำให้รู้สึกชาแทนนั่นเอง และที่บอกว่าอันตรายคือมันอาจไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ในช่องปากได้ และนี่ก็เป็นคำตอบของบางคนที่บอกว่า ใช้ยาสีฟันอุดรูฟันที่ปวดแล้วหาย ก็เพราะยาสีฟันบางตัวในท้องตลาดก็นิยมใส่น้ำมันกานพลู โดยเฉพาะยาสีฟันสูตรสมุนไพร วันก่อนหมอไปใช้ยาสีฟันที่บ้านญาติปากชาหมด พูดไม่ถนัดไปพักหนึ่งเลย
นอกจากนั้นการเอายาแก้ปวดต่างๆ มาแปะที่รอบตัวเหงือก ฟันบนเหงือก หมอไม่แนะนำเลยค่ะ เพราะอาจทำให้เกิดแผลเพิ่มนอกจากปวดฟันอยู่เดิมแล้วด้วย แถมถ้าทำเป็นประจำอาจจะทำให้เกิดแผลเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปากได้ ส่วนวิธีอื่นๆ แบบแพทย์ทางเลือก เช่น กดจุด รับประทานสมุนไพร อันนี้ก็เป็นทางเลือกของแต่ละคนเลยค่ะ แต่ทางการแพทย์ยังไม่มีผลการศึกษารับรองค่ะ
วิธีการที่แนะนำมาทั้งหมดนั้นเป็นวิธีช่วยให้หายทรมานจากอาการปวดฟันชั่วคราวในกรณีที่ยังไม่สามารถไปพบหมอฟันได้ทันท่วงทีเท่านั้น ไม่ใช่วิธีรักษาที่ถาวร เราจึงควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันทีที่มีโอกาส เพื่อรักษาให้ถูกต้องตรงจุด อาการของโรคฟันและเหงือกจะหายได้อย่างถาวรและไม่ลุกลามต่อไป เพราะถ้าท่านยิ่งปล่อยไว้ก็จะยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ตัวช่วยทั้งหลายที่หมอแนะนำไว้ก็จะเอาไม่อยู่แล้วนะคะ ยิ่งถ้าปล่อยจนอักเสบเป็นหนองติดเชื้อลุกลามจนเข้ากระแสเลือด ควบคุมไม่ได้ อันนี้ก็อาจส่งผลให้มีอันตราย เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)