Haijai.com


ติดตามการทำงานของหัวใจทางไกล มิติใหม่การแพทย์ฉุกเฉิน


 
เปิดอ่าน 1603

ติดตามการทำงานของหัวใจทางไกล มิติใหม่การแพทย์ฉุกเฉิน

 

 

โดยทั่วไปการติดตามการทำงานของหัวใจ เป็นกระบวนการที่ทำในโรงพยาบาล มีการใช้สัญญาณเตือน ทำให้ผู้ป่วยถูกรบกวน ส่งผลต่อการพักผ่อนของผู้ป่วย และรบกวนการเยียวยาในที่สุด

 

 

นอกจากนี้การศึกษาใหม่ยังพบด้วยว่าการติดตามการทำงานของหัวใจแบบนี้มีการส่งสัญญาณเตือนที่ไม่เป็นจริง ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อการตรวจจับภาวะหัวใจหยุด (cardiac arrest) ตลอดจนอาการอื่นๆ ที่เป็นอันตราย มิหนำซ้ำสัญญาณเตือนแบบปลอมๆ ยังทำให้พลาดการตรวจจับสัญญาณเตือนเมื่อมีอาการเกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้ นพ.แดเนียล คานทิลลอน จากสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาระบบติดตามการทำงานของหัวใจทางไกล โดยเริ่มต้นศึกษาในผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่า 99,000 คน ที่มารักษาที่คลีฟแลนด์คลินิก และโรงพยาบาลอีก 3 แห่งที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

 

 

ผลของการใช้ระบบดังกล่าว คือ นักเทคนิคที่อยู่ทางไกลได้รับการแจ้งเตือนมากกว่าสี่แสนครั้ง ในระยะเวลา 13 เดือน ซึ่งครึ่งหนึ่งของการแจ้งเตือนเกี่ยวข้องกับปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือความดันเลือด การแจ้งเตือนนี้ส่วนใหญ่ (79%) เป็นการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์ที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยนักเทคนิคทางไกลสามารถแจ้งไปยังทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉิน (emergency response teams, ERTs) ได้โดยตรง เมื่ออาการของผู้ป่วยจำนวน 105 คนแย่ลง และต้องการการรักษาทันที

 

 

อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวก็มีข้อจำกัดตรงที่ ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต และรูปแบบการศึกษายังไม่สามารถตรวจจับว่าการติดตามทางไกลทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างเจาะจงโดยตรงหรือไม่ ถึงกระนั้นระบบนี้ก็ยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการเข้าโรงพยาบาลแบบเฉียบพลันได้ถึง 65% ดังนั้น การติดตามการทำงานหัวใจด้วยระบบนี้ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และควรได้รับการพัฒนาต่อไป

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

http://today.mims.com/topic/remote-heart-monitoring-can-revolutionise-emergency-care?country=thailand

 

 

ภก.พลกิตต์ เบศรภิญโญวงศ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)