© 2017 Copyright - Haijai.com
เทคนิค “กินลดโซเดียม”
หลังทราบถึงผลเสียต่อสุขภาพมากมายจากการรับประทานโซเดียมเกินความต้องการของร่างกายแล้ว เราควรใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมให้เหมาะสม โดยอาจลองใช้เทคนิคในการ “กินลดโซเดียม” เข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้นดังนี้
1.ค่อยๆ ลดปริมาณโซเดียมลงมาทีละน้อย เพื่อให้ต่อมรับรสทำความคุ้นเคยกับความเค็มที่ลดลง จากข้อมูลของสมาคม The British Dietetic Association พบว่า การพยายามบังคับตัวเองให้ลดการบริโภคโซเดียมเป็นเรื่องที่ใช้เวลาไม่นาน การปรับปุ่มรับรสที่ลิ้นใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยแรกสุดคือการหยุดเติมสารปรุงรสต่างๆ ในอาหาร เพราะอาหารจากธรรมชาติมีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบในตัวอยู่แล้ว
ยิ่งถ้าเป็นเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลก็จะมีเกลือแฝงอยู่มากขึ้น โดยพบว่าอาหารสดมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าอาหารสำเร็จรูป 10-100 เท่า นอกจากนี้อาหารไทยทั่วไปที่มีน้ำซุป-น้ำจิ้ม เป็นส่วนประกอบ ควรเลือกอย่างระมัดระวัง เพราะทั้งในน้ำซุปและน้ำจิ้มไม่เพียงแต่มีเครื่องปรุงรสที่เข้มข้นอยู่แล้ว ยังมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบรวมอยู่ด้วย
2.ทำอาหารรับประทานเอง และลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป จากการศึกษาพบว่าอาหารสำเร็จรูปมีโซเดียมปริมาณมาก ทั้งโซเดียมคลอไรด์ โซเดียมเบนโซเอต ซึ่งเป็นสารถนอมอาหาร เช่นเดียวกับอาหารที่ทำขายตามร้านอาหารจะมีโซเดียมมากกว่าอาหารทำเองที่บ้านหลายสิบเท่า เนื่องจากเราไม่สามารถกะเกณฑ์ปริมาณเครื่องปรุงรสที่ผู้ขายใส่ลงไปได้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสัดส่วนโซเดียมที่ได้รับในอาหารของคนไทย ร้อยละ 71 มาจากเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ดังนั้น การทำอาหารเองจึงช่วยควบคุมปริมาณโซเดียมได้ตามต้องการ
3.อ่านรายละเอียดฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะหากเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ขนมขบเคี้ยว หรือของทอดมักมีเกลืออยู่ในปริมาณสูง นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันหรือแคลอรีต่ำผู้ผลิตมักเพิ่มเกลือลงไปเป็นจำนวนมาก เพื่อกลบเกลื่อนความจืดอันเนื่องมาจากการลดไขมันและอาหารประเภทเนื้อสัตว์ราคาถูก ก็มักใส่เกลือเพื่อเพิ่มรสชาติ แนะนำว่าควรเลือกอาหารชนิดที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค
4.ปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการรับประทานอาหาร เช่น ใช้วิธีจิ้มหรือจุ่มอาหารแทนการคลุกเคล้าหรือเทราด เมื่อรับประทานอาหารที่มีน้ำซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว ก็ควรเลี่ยงการรับประทานน้ำก๋วยเตี๋ยว เพราะในน้ำก๋วยเตี๋ยวมักมีส่วนประกอบของเครื่องปรุงรสต่างๆ รวมทั้งโซเดียมปริมาณมาก
นอกจากนี้อาหารที่มีโซเดียมสูงอาจไม่ทำให้เรารู้สึกเค็มเสมอไป เราจะรู้สึก “เค็ม” น้อยลงถ้าอาหารนั้นเติมน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียมเข้าไปจนหวาน ความหวานอาจกลบความเค็มได้ จึงควรฝึกนิสัยกินหวานหรือรสจัดให้น้อยลงด้วย เพื่อให้ลิ้นไวต่อรสเค็มมากขึ้น ทำให้ทนรับรสชาติเค็มได้น้อยลง
ปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทต่างๆ
หมวดอาหาร | หน่วย | ปริมาณโซเดียม เฉลี่ย (มก.) | ร้อยละของความต้องการใน 1 วัน (1,500 มก.) |
นม |
240 มล. |
120 |
8 |
ข้าว |
1 ทัพพี |
20 |
1.3 |
ขนมปัง |
1 แผ่น |
130 |
8.6 |
ผลไม้ |
1 ส่วน |
2-10 |
0.13-0.6 |
ผักสด |
1 ถ้วย |
10-15 |
0.6-1 |
เนื้อสัตว์ |
2 ช้อนโต๊ะ |
ประมาณ 25 |
ประมาณ 1.6 |
ไข่ |
1 ฟอง |
ประมาณ 90 |
ประมาณ 6 |
น้ำมันพืช |
1 ช้อนชา |
- |
- |
ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ
เครื่องปรุงรส | หน่วย | ปริมาณโซเดียม เฉลี่ย (มก.) | ร้อยละของความต้องการใน 1 วัน (1,500 มก.) |
เกลือ |
1 ช้อนชา |
2,000 |
133.3 |
ผงชูรส |
1 ช้อนชา |
610 |
40.7 |
ผงปรุงรส |
1 ช้อนชา |
815 |
54.3 |
ซุปก้อน |
1 ก้อน |
1,760 |
117.3 |
น้ำปลา |
1 ช้อนโต๊ะ |
1,350 |
90 |
ซีอิ๊ว |
1 ช้อนโต๊ะ |
1,190 |
79.3 |
ซอสถั่วเหลือง |
1 ช้อนโต๊ะ |
1,187 |
79.1 |
ซอยหอยนางรม |
1 ช้อนโต๊ะ |
518 |
34.5 |
น้ำจิ้มไก่ |
1 ช้อนโต๊ะ |
385 |
25.7 |
ซอสพริก |
1 ช้อนโต๊ะ |
231 |
15.4 |
ซอสมะเขือเทศ |
1 ช้อนโต๊ะ |
149 |
9.9 |
ข้อมูลอ้างอิง
-บทความวิชาการรณรงค์ลดเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
-คู่มือลดโซเดียม ยืดชีวิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
-เอกสารวิชาการเรื่องโซเดียม สถาบันโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล
อายุรแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)